โรคเกาต์ (Gout)

โรคเกาต์ (Gout)

ผศ.พญ.อัจฉรา  กุลวิสุทธิ์
ภาควิชาอายุรศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

            โรคเกาต์ เป็นโรคข้อซึ่งเกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจนตกตะกอน ทำให้เกิดโรคข้ออักเสบ ซึ่งโรคนี้รักษาหายขาดได้  หากได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมและต่อเนื่อง

อาการของโรค  แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน มักเกิดที่ข้อหัวแม่เท้า หรือข้อเท้า ข้อปวดบวมแดงรุนแรงใน 24 ชั่วโมงแรก หากไม่รักษาสามารถหายได้เองใน 5-7 วัน และส่วนใหญ่จะเป็นซ้ำ ๆ ระยะไม่มีอาการ หลังจากข้ออักเสบหาย ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใด ๆ สุดท้ายคือ ระยะเรื้อรัง หลังจากมีอาการซ้ำ 3-5 ปี ข้ออักเสบจะมีจำนวนมากขึ้น ลามมาที่ข้ออื่น ๆ และเกิดก้อนจากผลึกของกรดยูริกขนาดโตขึ้นเรื่อย ๆ อาจแตกเห็นเป็นผงขาวนวลคล้ายชอล์ก

            กรดยูริก ส่วนใหญ่ร่างกายสร้างเอง มีเพียงส่วนน้อยไม่ถึงร้อยละ 20 ที่ได้รับจากอาหาร คนปกติค่าในเลือดจะอยู่ในระดับไม่เกิน 7 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในเพศชายและหญิงวัยหลังหมดประจำเดือน ส่วนหญิงในวัยที่ยังมีประจำเดือนจะมีระดับไม่เกิน 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ค่าที่สูงเกินกว่าระดับดังกล่าวถือว่ามีภาวะกรดยูริกสูง

            ภาวะกรดยูริกสูงนี้สัมพันธ์กับภาวะอ้วน, พันธุกรรมในครอบครัว, ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ และยาแอสไพริน, โรคร่วม เช่น ความดันโลหิตสูง, อาหารที่มีกรดยูริกสูง และเหล้าเบียร์ ดังนั้น ควรลดน้ำหนักตัว, งดเหล้า-เบียร์ และ ลดปริมาณอาหารที่มีกรดยูริกสูงลง

            คนที่มีระดับกรดยูริกสูงจนทำให้เกิดโรคมีเพียงร้อยละ 10-20 เท่านั้น โดยเป็นโรคเกาต์ และ/หรือ เป็นนิ่วในไต กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเท่านั้นที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา

อาหารที่ทำให้มีกรดยูริกสูงที่สำคัญได้แก่ เหล้าและเบียร์, เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ, ไต, สมอง และ อาหารทะเล  นอกจากนี้มีข้อมูลว่าอาหารประเภทที่มีไขมันสูง ขนมปัง ขนมเค้ก น้ำหวาน และ น้ำผลไม้ที่มีรสหวาน อาจเพิ่มระดับกรดยูริกในเลือดได้ ส่วนสัตว์ปีก และ สัตว์เนื้อแดงที่มีปริมาณไขมันน้อย ไม่จำเป็นต้องงด ยกเว้นในผู้ป่วยรายที่มีประวัติว่ามีการกำเริบชัดเจนหลังรับประทานอาหารดังกล่าว  สำหรับ อาหารมังสวิรัติและผักส่วนใหญ่มีปริมาณกรดยูริกค่อนข้างน้อย สามารถรับประทานได้ตามปรกติ

ยาที่ใช้รักษามี 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ยาควบคุมอาการข้ออักเสบ เพื่อป้องกันการกำเริบของข้ออักเสบ ได้แก่ ยาโคลชิซีน และ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ควรให้ในระยะสั้นจนข้ออักเสบหายดี โดยแพทย์จะพิจารณาให้ในขนาดที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากอาจมีข้อห้ามในผู้ป่วยบางราย ยาในกลุ่มนี้โดยเฉพาะยาโคลชิซีน สามารถให้ในขนาดต่ำเพื่อลดและควบคุมการกำเริบของข้ออักเสบในระยะยาวจนกว่าจะคุมระดับกรดยูริกในเลือดได้ และ ยาควบคุมระดับกรดยูริก ประกอบด้วย ยาลดการสร้างกรดยูริก ที่สำคัญได้แก่ ยาอัลโลพิวรินอล และยาเพิ่มการขับกรดยูริกทางไต ได้แก่ ยาโปรเบ็นนาซิด, ยาเบนโบรมาโรน และ ยาซัลฟินไพราโซน แพทย์จะเริ่มยากลุ่มนี้เมื่อข้ออักเสบหายดี และ ปรับขนาดยาจนคลุมระดับกรดยูริกในเลือดได้ในระดับ 5-6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และ ให้ยาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ การใช้ยาจึงควรใช้อย่างระมัดระวังและเลือกใช้เฉพาะรายโดยแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากมีผลข้างเคียงและอาจมีผลกระทบต่อระดับยาบางชนิดได้

อย่างไรก็ตาม การรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรคจะได้ผลการรักษาดีมาก หากเริ่มรักษาช้า ต้องอาศัยระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปีเพื่อให้ได้ผลดีและก้อนยุบลงข้ออักเสบจะหายได้และก้อนตะปุ่มตะป่ำจะยุบราบเป็นปกติได้

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยมีดังนี้

- พบแพทย์แพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลการรักษา

- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ได้แก่ การหยุดยาเอง/รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ, การดื่มเหล้าเบียร์, ในรายที่อาหารที่มีกรดยูริกสูงบางชนิดที่กระตุ้นการกำเริบของโรคควรหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าว, การนวด/บีบข้อ เป็นต้น

- รักษาโรคร่วมและดูแลสุขภาพ ที่สำคัญได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, ไขมันสูง, โรคหัวใจ, นิ่วไต, โรคอ้วน, และควรงดสูบบุหรี่

-ไม่ห้ามอาหารใด ๆ ยกเว้นในบางรายที่มีข้ออักเสบ เมื่อรับประทานอาหารบางชนิด แนะนำหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าวชั่วคราว แต่เมื่อคุมระดับกรดยูริกได้แล้ว จะรับประทานอาหารได้ทุกประเภท

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด