ฝังเข็มรักษาโรค

ฝังเข็มรักษาโรค

 

อ.นพ.ชนินทร์  ลีวานันท์

 ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

            ปัจจุบัน การรักษาโรคด้วยการฝังเข็มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และองค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรองการฝังเข็มว่าสามารถรักษาโรคเห็นผลชัดเจน  การฝังเข็มรักษาโรคมีหลายระบบ ตั้งแต่

 
           - ระบบโครงสร้างกล้ามเนื้อ  เช่น ปวดเข่า ปวดคอ ปวดหลัง ปวดศีรษะ ปวดข้อศอก ปวดไหล่    รูมาตอยด์
            - ระบบประสาท เช่น อัมพาตสมอง หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทสันหลัง
            - ระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ภูมิแพ้ เม็ดเลือดขาวต่ำ
            - ระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะ คลื่นไส้ อาเจียน และระบบอื่น ๆ เช่น ปวดประจำเดือน หลังฉายแสงหรือเคมีบำบัด และโรคเกี่ยวกับความเครียด

         
          
โดยที่การฝังเข็มรักษาโรค อาศัยกลไกในการยับยั้งความเจ็บปวด ช่วยให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทให้ออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลางที่ระดับไขสันหลังเพื่อช่วยระงับปวด ทำให้กล้ามเนื้อคลายจุดปวด ปรับสมดุลของอวัยวะต่างๆ  ให้อยู่ในสภาพปกติ ปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน  รวมทั้งกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้สะดวกขึ้น  ทั้งนี้ก่อนเข้ารับการรักษา ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารตามปกติ  ใส่เสื้อผ้าให้เปิดบริเวณที่รักษาได้ง่าย และถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะให้เรียบร้อย   

            สำหรับการรักษา แพทย์จะฝังเข็มเข้าผิวหนัง จากนั้นจะกระตุ้นเข็มด้วยมือหรือกระแสไฟฟ้า โดยคาเข็มไว้ประมาณ 20 นาที แล้วจึงถอนออก ระหว่างปักเข็มผู้ป่วยอาจเกิดความรู้สึกได้ 2 แบบ คือรู้สึกหนัก ๆ หน่วง ๆ ในจุดที่ฝังเข็ม หรือความรู้สึกแล่น ซ่าๆ เป็นแนว เนื่องจากแพทย์จะฝังเข็มไว้บนเส้นลมปราณ หากรู้สึกเจ็บปวดมากให้แจ้งแพทย์ทันที เพื่อปรับองศาเข็มเล็กน้อย หรือลดแรงกระตุ้นไฟฟ้า เพื่อลดความเจ็บปวดลง และเพื่อให้ได้ผลดี ควรมารับบริการสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันนาน 10 - 20 ครั้ง โดยแพทย์จะพิจารณาตามการตอบสนองของผู้ป่วย  ถ้ามีอาการเรื้อรังอาจต้องทำติดต่อกันหลายครั้ง และมีข้อห้ามคือ จะไม่ฝังเข็มในสตรีตั้งครรภ์หรือผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือผู้ป่วยที่มีเลือดออกง่าย โรคมะเร็งที่ยังไม่ได้รับการรักษา โรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเพื่อป้องกันผลที่จะตามมา เช่น  เป็นลม เลือดออกหรือมีรอยช้ำที่จุดฝังเข็ม  และอาจเกิดการติดเชื้อได้ เป็นต้น หลังการรักษา จะไม่มีอาการผิดปกติ  นอกจากผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่อ่อนแอ อาจมีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย ถ้ามีอาการปวดหนักๆ บริเวณจุดฝังเข็ม หรือมีรอยเขียวช้ำ ให้ใช้แผ่นร้อนประคบ และกินยาแก้ปวดได้ ประมาณ 2-3 วันก็จะดีขึ้นครับ

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด