กลุ่มอาการสูงอายุ: อาการสับสนเฉียบพลัน

อาการสับสนเฉียบพลันเป็นอย่างไร

          ผู้ที่มีอาการสับสนเฉียบพลันจะมีอาการพูดคุยคนละเรื่องอาจคุยเรื่องหนึ่งได้สั้นๆ แล้วเปลี่ยนเรื่องคุย ดูไม่เป็นเรื่องราว สับสนจับต้นชนปลายไม่ถูก ผู้ป่วยจะมีสมาธิไม่ดี วอกแวกง่าย กระสับกระส่าย ผุดลุกผุดนั่ง หลงวัน เวลา และสถานที่ อาจมีอาการเห็นภาพหลอนที่คนอื่นไม่เห็น เช่น เห็นญาติผู้ใหญ่ที่เสียไปแล้วเห็นสายน้ำเกลือเป็นงูอาการเกิดขึ้นค่อนข้างเร็วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือภายในไม่กี่วัน บางคนอาการเป็นมากถึงกับปีนเตียง ดึงสายน้ำเกลือ ดึงสายสวนปัสสาวะ ฉีกผ้าอ้อม  ไม่หลับไม่นอน แต่ในผู้สูงอายุบางคนกลับแสดงอาการเป็นนอนมากขึ้น ซึมๆ พูดน้อยลง ไม่ค่อยตอบสนอง อาการของภาวะนี้อาจมีบางช่วงดูพอรู้เรื่อง สลับกับบางช่วงที่มีอาการมาก โดยช่วงที่มีอาการมาก มักเป็นช่วงตอนกลางคืน

         อาการนี้ต้องแยกจากอาการจากภาวะสมองเสื่อม เช่น ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมเดิมอาจมี อาการหลงลืม จำวัน เวลา สถานที่ หรือบุคคล ไม่ได้อยู่เดิม หรือบางรายอาจมีอาการหงุดหงิด เห็นภาพหลอน อยู่เดิม ที่เป็นมาหลายเดือนแล้ว หากอาการไม่เปลี่ยนไปจากเดิมน่าจะเป็นจากภาวะสมองเสื่อมมากกว่า แต่หากมีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยเป็น ที่เพิ่งเกิดขึ้นใน ระยะเวลาอันสั้น ให้นึกถึงอาการสับสนเฉียบพลัน (ที่เกิดขึ้นในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม)

         อาการนี้มักพบในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆยิ่งอายุยิ่งมากขึ้นยิ่งมีความเสี่ยงสูงเพราะเซลล์สมอง เริ่มเสื่อมมากขึ้น ทำให้ความสามารถของสมองลดลง รองรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของร่างกายได้ไม่ดีเท่าคนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุที่รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลร้อยละ 10-20 เกิดอาการนี้ขณะนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล  และถ้าต้องได้รับการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดข้อสะโพก ผู้ที่นอนไอซียู หรือมีป่วยอาการหนัก จะโอกาสเกิดอาการนี้ยิ่งสูงขึ้น อาจเกินร้อยละ 50

         อาการสับสนเฉียบพลันถือเป็นภาวะค่อนข้างเร่งด่วนที่ผู้ดูแลควรสังเกต และรายงานญาติ หรือสถานประกอบการฯเนื่องจากอาจต้องไปพบแพทย์เพราะมักเกิดจากความผิดปกติบางอย่าง ของร่างกายที่ซ่อนอยู่ 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการสับสนเฉียบพลัน

         ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการสับสนเฉียบพลัน เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยดั้งเดิม (ปัจจัยนำที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการสับสนเฉียบพลันสูงอยู่เดิม) และปัจจัยกระตุ้น

         1. ปัจจัยดั้งเดิม หรือปัจจัยนำ ที่สำคัญได้แก่ การที่มีภาวะสมองเสื่อมอยู่เดิม มีโรคทางสมองอยู่เดิม เคยเกิดอาการสับสนเฉียบพลันมาก่อน มีโรคประจำตัวหลายโรค มีปัญหาเรื่องการมองเห็นและการได้ยิน เปราะบาง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ดื่มเหล้าประจำ และอายุมาก (เช่นเกิน 75 ปี)

         2. ปัจจัยกระตุ้น คือ ปัจจัยที่เกิดขึ้นในภายหลังที่ทำให้เกิดอาการสับสนเฉียบพลันขึ้น ซึ่งมักเป็นสาเหตุทางร่างกาย ที่สำคัญ

                1. ยา   สาเหตุนี้ พบได้บ่อยมาก  ยิ่งถ้ารับประทานยาหลายชนิด ยิ่งมีโอกาสเกิดสูง  ตัวอย่างยาที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ ยาลดน้ำมูก  ยาคลายกล้ามเนื้อแก้ปวด ยานอนหลับ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคพาร์กินสัน เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าเพิ่งได้รับยาใดมาไม่นานหรือมีการปรับขนาดยาหรือวิธีการรับประทานก่อน เกิดอาการสับสนเฉียบพลัน  ให้หยุดยาดังกล่าวและปรึกษาแพทย์โดยนำตัวอย่างยาทั้งหมดไปให้แพทย์ดู 

           อีกกรณีหนึ่งเกิดจากการหยุดยาบางตัวอย่างกะทันหัน เช่น รับประทานยานอนหลับมานานแล้ว หยุดทันทีหรือบางคนดื่มเหล้าจัดมานานแล้วหยุดดื่มทันทีจากสาเหตุอะไรก็ตามก็ อาจทำให้เกิดอาการสับสนเฉียบพลันได้

               2. โรคติดเชื้อ  ไม่จำเป็นตัองติดเชื้อในสมอง อาจติดติดเชื้อที่อื่นก็ได้ เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อที่ปอด หรือบางคนเป็นหวัดก็สับสนได้ (แต่กรณีหลังนี้มักเกิดในผู้ป่วยที่มีปัญหาของสมองอยู่เดิม)  ผู้ป่วยจะมีไข้และมีอาการของอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ก็มีอาการปัสสาวะขัด ขุ่น ปัสสาวะบ่อย ปวดบั้นเอว  ถ้าติดเชื้อที่ปอดก็มีไข้ ไอ เหนื่อยหอบ เป็นต้น  แต่ถ้าอายุมากแล้วหรือเปราะบางมาก  อาจไม่มีไข้และอาการของอวัยวะที่ติดเชื้อไม่ชัดเจน เช่น ติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ อาจมีอาการเบื่ออาหาร พูดคุยสับสน ไม่ลุกเดิน

              3. ความผิดปกติของระดับน้ำตาล เกลือแร่ในร่างกาย  กรณีนี้มักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคบางอย่างอยู่เดิม เช่น เป็นโรคเบาหวานแล้วได้ยาเบาหวาน แล้วมีช่วงรับประทานอาหารได้น้อย เกิดมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ได้น้ำเกลือทางหลอดเลือด หรือยาขับปัสสาวะ หรือผู้ป่วยโรคไตมีระดับเกลือแร่ผิดปกติ 

             4. อาการปวดในร่างกายหรืออดนอน ทำให้เกิดการกระสับกระส่าย

              5. การถูกพันธนาการ ยึดตรึง หรือมีอุปกรณ์สายต่าง ๆ เช่น สายน้ำเกลือ สายให้อาหาร สายสวนปัสสาวะ ทำใหเกิดความรำคาญ กระสับกระส่าย อย่างไรก็ตามในบางครั้ง ผู้สูงอายุรายนั้นๆ อาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้

              6. โรคอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจวาย หัวใจสูบฉีดเลือดไม่ดี ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ  โรคถุงลมโป่งพองมีอาการหอบเหนื่อยมาก ๆ ร่างกายขาดออกซิเจน สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หรือเป็นโรคตับแข็ง  ตับไม่สามารถทำลายของเสียในร่างกายทำให้มีของเสียคั่งในสมองได้ เป็นต้น

การป้องกันอาการซึม สับสนเฉียบพลัน

         1. พยายามให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจวัตรประจำด้วยตนเอง อย่างเช่น อาบน้ำเอง แต่งตัวเอง ซึ่งการประกอบกิจวัตรประจำวันเองเป็นการกระตุ้นร่างกายและสมอง และยังทำให้ ไม่สับสนเรื่องเวลาอีกด้วย

         2. พยายามให้ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหว  ไม่นอนอยู่แต่บนเตียง  ผู้สูงอายุที่พอจะเดินได้  ญาติควรพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้ลุกเดินไปไหนมาไหน

        3. พยายามพูดคุยกับผู้สูงอายุบ่อย ๆ ควรทบทวนวัน เวลาและสถานที่ ให้ผู้สูงอายุรับทราบ เป็นครั้งคราว ถามคำถามเกี่ยวกับความเป็นอยู่  พูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในครอบครัวและสังคม

        4. หานาฬิกาและปฏิทิน  วางไว้ในตำแหน่งที่ผู้สูงอายุสามารถมองเห็นได้ชัดเจน  เปิดวิทยุหรือโทรทัศน์เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการกระตุ้นมากขึ้น

        5. ในกรณีที่มีปัญหาเรื่องการมองเห็นและการได้ยิน  ให้ผู้ป่วยสวมแว่นสายตา และเครื่องช่วยฟัง   เพราะจะทำให้มองเห็นและได้ยินดีขึ้น  ทำให้สามารถรับรู้เหตุการณ์รอบตัวได้มากขึ้น

        6. ถ้าผู้สูงอายุนั้นไม่ค่อยได้ไปไหนมาไหน อยู่แต่ในบ้าน  พยายามให้ผู้สูงอายุ ได้สัมผัสแสงแดดบ้าง ในช่วงเช้าและเย็น ถ้านอนอยู่แต่บนเตียง ลุกเดินไม่ได้  พยายามเปิดผ้าม่าน หน้าต่างหรือเปิดไฟให้สว่างในเวลากลางวัน และพยายามหรี่หรือปิดไฟในช่วงกลางคืน

        7. ถ้ามานอนโรงพยาบาล  ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการสับสนเฉียบพลัน ควรให้ญาติหรือผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุเป็นประจำได้อยู่เฝ้า  และนำอุปกรณ์ เครื่องใช้ประจำตัว เช่น หมอน ผ้าห่ม ของผู้สูงอายุรายนั้นมาที่โรงพยาบาล  เพราะจะคุ้นเคย

        8. พยายามให้ผู้สูงอายุได้รับการพักผ่อนเพียงพอ หลีกเลี่ยงเสียงและแสงที่ รบกวนผู้ป่วยช่วงพักผ่อน เนื่องจากผู้ป่วยสูงอายุที่อดนอนมาก ๆ บางรายอาจเกิดอาการสับสนได้

        9. หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอง  ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยาใด ๆ

       10. เมื่อมีอาการเจ็บไข้ไม่สบายใด ๆ ควรไปรักษาตั้งแต่แรก

       11. ในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือต้องได้รับการผ่าตัด ควรได้รับ การประเมินจากแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อการเกิดอาการสับสนเฉียบพลันและการป้องกันไว้ด้วย

       12. กรณีที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล   ควรอธิบายขั้นตอนการปฏิบัติตัว  ขั้นตอน การตรวจ และการรักษาให้ผู้ป่วยฟังเป็นระยะ  จะช่วยทำให้ผู้ป่วยคลายความวิตกกังวล ซึ่งอาจ นำมาซึ่งอาการสับสนได้

       ในกรณีที่เกิดอาการสับสนแล้วให้รีบหยุดยาที่ไม่แน่ใจและนำผู้สูงอายุรายนั้นไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจเกิดจากความผิดปกติทางกายบางอย่างที่เป็นอันตรายต้องรักษาอย่างรวดเร็ว

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด