การเตรียมตัวก่อนตัดสินใจไปพบจิตแพทย์

การเตรียมตัวก่อนตัดสินใจไปพบจิตแพทย์

อ.พ.ญ.กมลเนตร วรรณเสวก

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

เมื่อไหร่จึงควรไปพบจิตแพทย์

โดยทั่วไปคงไม่มีใครอยากไปพบจิตแพทย์ถ้าไม่จำเป็นด้วยภาพลักษณ์ในอดีตของการไปพบจิตแพทย์ถูกผูกกับคำว่าป่วยทางจิต ส่วนใหญ่จึงพยายามหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อถึงเวลาจำเป็นแล้วก็ควรต้องไป เพราะถ้าไม่ไปก็เหมือนเวลาเราไม่สบายแล้วไม่ยอมรักษาโรคก็อาจลุกลามหรือหายช้าหายยากกว่าที่ควรจะเป็น และปัจจุบัน การไปพบยอมรับกันมากขึ้นแล้วว่า ผู้ที่ไปพบจิตแพทย์ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนโรคจิตเท่านั้น แต่อาจไปเพื่อขอคำปรึกษาในการดำเนินชีวิตก็เป็นได้ ฉะนั้นเแล้วเมื่อไหร่จึงจะเป็นเวลาที่ควรไปล่ะ

ตอบง่ายๆก็คือเมื่อตัวเราเองรู้สึกแย่จนมีผลกับการใช้ชีวิตประจำวันเป็นเวลานานเกินทน เช่นกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่อยากเรียนไม่อยากทำงาน ไม่อยากมีชีวิตอยู่ วิตกกังวลมากเกินเหตุจนมีผลต่อการตัดสินใจหรือการกระทำหลายๆอย่าง หรือ เมื่อเราสังเกตว่าคนใกล้ตัวเรามีความคิดอารมณ์หรือพฤติกรรมที่ผิดปกติไปจากเดิม หรือผิดไปจากคนอื่นในสังคมอย่างเห็นได้ชัด เช่น พูดคนเดียว มีความเชื่อบางอย่างที่ไม่สมเหตุสมผล หงุดหงิดเกรี้ยวกราดง่ายผิดปกติ จนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของเขาเองหรือคนรอบข้าง หรือใช้สารเสพติดที่ผิดกฎหมาย หรือถูกกฎหมายแต่ใช้มากเกินควร หรือบางคนที่มีปัญหาการเรียน การปรับตัวกับความเครียด การทำงาน การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ก็สามารถตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ได้

 

จะไปพบจิตแพทย์ได้อย่างไร

ก่อนอื่นต้องหาก่อนว่าจิตแพทย์อยู่ที่ไหนบ้าง เนื่องจากจิตแพทย์ยังคงเป็นแพทย์สาขาขาดแคลน จึงไม่ได้หาพบง่ายนักตามคลินิกทั่วไปหรือโรงพยาบาลประจำอำเภอหรือโรงพยาบาลประจำตำบล

โดยทั่วไปท่านต้องสอบถามตามสถานพยาบาลดังต่อไปนี้ว่ามีจิตแพทย์ประจำอยู่หรือไม่ในวันที่ท่านจะไปพบ

- โรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัด

- โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิตทุกโรงพยาบาล ซึ่งมีอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลศรีธัญญา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ โรงพยาบาล โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ เป็นต้น
            - โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร เช่น โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

- โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันประสาทวิทยา เป็นต้น

- โรงพยาบาลในสังกัดโรงเรียนแพทย์ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศรีนครินทร์(ม.ขอนแก่น) โรงพยาบาลสงขลานครินทร์(มอ.) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นต้น

- โรงพยาบาลอำเภอบางโรงพยาบาลเท่านั้นที่จะมีจิตแพทย์ประจำ(หายากมาก)

- โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ต้องโทรศัพท์สอบถามหรือตรวจสอบทางอินเตอร์เน็ท

- โรงพยาบาลมนารมย์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านจิตเวชแห่งเดียวในประเทศไทยในปัจจุบัน

- โรงพยาบาลในสังกัดอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมการแพทย์ทหารเรือ เป็นต้น

- คลินิกส่วนตัวของจิตแพทย์

แนะนำว่าควรเป็นโรงพยาบาลที่ท่านสามารถไปได้สะดวก เพราะท่านอาจต้องไปพบแพทย์มากกว่า 1 ครั้ง และหากท่านไม่สามารถไปรับบริการยังสถานพยาบาลที่มีจิตแพทย์ได้ ท่านก็สามารถไปปรึกษาในเบื้องต้นกับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปใกล้บ้านท่านหรือแพทย์ประจำตัวของท่านก่อนได้ และหากจำเป็นต้องพบผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะพิจารณาส่งท่านพบจิตแพทย์เอง

 

ควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนไปพบจิตแพทย์

1. เตรียมใจ หลายๆคนเกรงว่าการไปพบจิตแพทย์จะทำให้ภาพลักษณ์ตนเองดูไม่ดี กลัวที่ทำงานรู้ กลัวพบคนรู้จัก ท่านก็คงต้องชั่งน้ำหนักความทุกข์ที่เกิดอยู่แล้วและจะเป็นต่อไปหากไม่ได้รับการดูแลเยียวยารักษาที่เหมาะสม และสิ่งที่ท่านคิดว่าอาจเกิดขึ้นหากไปพบจิตแพทย์ แต่ปัจจุบันภาพลักษณ์ของการมาพบจิตแพทย์ค่อยๆเปลี่ยนไปในแนวทางที่ดีขึ้นตามประเทศตะวันตกซึ่งการไปพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ และทุกสถานพยาบาลจะต้องมีนโยบายรักษาความลับของผู้ไปขอรับการปรึกษาเสมอ จะไม่เปิดเผยข้อมูลของท่านหากท่านไม่ยินยอม

2. เตรียมตัว แต่งตัวสุภาพตามปกติ บางท่านอาจนำผ้าพันคอหรือเสื้อหนาวติดไปหากแอร์เย็น หรือนำพัดเล็กๆไปเผื่ออากาศร้อน

3. เตรียมของ

- เอกสารสำคัญ เช่นข้อมูลประวัติการรักษาที่เดิมถ้ามี บัตรประชาชน บัตรแสดงสิทธิ์การรักษากรณีท่านต้องการใช้สิทธิ์เบิกจ่ายของประกันสังคมหรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด มิเช่นนั้นท่านจะต้องชำระค่ารักษาเอง เพราะโรงพยาบาลรัฐที่มีจิตแพทย์มักเป็นโรงพยาบาลในระดับทุติยภูมิหรือตติยภูมิ ซึ่งตามหลักจะให้บริการเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการส่งต่อมาจากสถานพยาบาลในระดับปฐมภูมิ หากท่านไปรับบริการด้วยเองโดยไม่ผ่านต้นสังกัดมักต้องชำระค่าบริการด้วยตนเอง ยกเว้นกรณีฉุกเฉินหรือท่านที่ใช้สิทธิ์ข้าราชการอาจไปเบิกในภายหลังได้

- เตรียมยา ที่ท่านรับประทานประจำทั้งยาทางกายหรือยาทางจิตเวชเดิม เพราะกายและใจมีความเกี่ยวข้องกัน แพทย์จะได้มีข้อมูลในการวางแผนช่วยเหลือท่านได้อย่างรอบด้านและต่อเนื่อง

- น้ำดื่ม ขนมนมเนย หนังสือ โทรศัพท์ เพื่อสันทนาการและแก้หิวกระหายระหว่างรอ เพราะอาจมีผู้รอรับบริการเช่นเดียวกับท่านเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนจิตแพทย์ที่ให้การดูแล

4. เตรียมญาติ หรือเพื่อน คนรู้จัก คนใกล้ชิดที่ท่านไว้ใจ ไปเป็นเพื่อนท่านหากท่านต้องการ และจะมีประโยชน์กับจิตแพทย์ผู้รักษาท่านมากหากสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวท่าน ที่ท่านอาจไม่เคยสังเกตมาก่อน เพื่อให้แพทย์มีข้อมูลใช้ดูแลท่านอย่างครบถ้วน และจะได้ช่วยรับฟังคำแนะนำจากแพทย์ว่าท่านควรปฏิบัติตัวอย่างไร และคนใกล้ชิดจะมีส่วนช่วยดูแลท่านอย่างไร

5. เตรียมพาหนะ สำรวจเส้นทางก่อนไป กรณีไกลมากๆหรือข้ามจังหวัดจะได้ไปทันเพราะส่วนใหญ่มักเปิดรับบัตรเฉพาะช่วงเช้า(แล้วแต่โรงพยาบาล) เพื่อให้สามารถตรวจผู้ป่วยได้หมดทันในเวลาราชการ แต่ถ้าฉุกเฉินอาจอนุโลมให้พบได้เมื่อไปถึง

 

กรณีผู้ที่เราอยากพาไปพบจิตแพทย์แต่เขาไม่ต้องการให้เราพาไปพบจะทำอย่างไร

            อาจเป็นได้จากหลายปัจจัยทั้งที่รู้ว่าตนผิดปกติแต่ไม่กล้าไปด้วยเหตุผลต่างๆ หรือมีความเข้าใจที่ผิดๆกับการไปพบจิตแพทย์ หรืออาจเป็นเพราะเขาไม่รู้ตัวว่าตนเองผิดปกติจึงไม่เห็นความจำเป็นว่าทำไมต้องไป มีคำแนะนำที่พอใช้ได้ดังนี้

1. คุยกันด้วยเหตุด้วยผล โดยคนที่เขาไว้ใจ ไม่ตำหนิ แต่พยายามเข้าใจเขาแล้วค่อยโน้มน้าว ชักจูง ให้เขายอมไปด้วยความเต็มใจ เช่นบางรายอาจมีปัญหาการนอน หรือหงุดหงิดเครียดง่าย ซึ่งเขาเองต้องการหายจากอาการดังกล่าวอยู่แล้ว ก็ใช้เหตุผลว่าเพื่อให้หายจากอาการดังกล่าว ซึ่งน่าจะยอมรับได้ง่ายกว่าการบอกว่าเขาป่วย หรือผิดปกติ แต่บางรายอาจต้องใช้วิธีติดสินบนหรือจ้างให้เขาไปพบแพทย์ก่อนในครั้งแรก

2. หลอกว่าไปเที่ยวแล้วเลี้ยวเข้าโรงพยาบาล ก็ใช้ได้ผล แต่มักได้แค่ครั้งเดียว

3. ชักชวนว่าเป็นการไปตรวจสุขภาพ แต่สุดท้ายเขาก็จะต้องรู้ว่าแพทย์ที่เขาคุยด้วยเป็นจิตแพทย์ แล้วค่อยให้จิตแพทย์เกลี้ยกล่อม

4. บังคับควบคุมตัวมาโดยญาติหลายๆคน หรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ประจำรถของหน่วยบรรเทาสาธารณภัย(บางจังหวัด) กรณีเขาทำพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น

5. มาปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อขอยานอนหลับ แล้วไปผสมน้ำหรืออาหารให้เขารับประทานแล้วค่อยแอบอุ้มขึ้นรถมา

            ซึ่งวิธีที่ 4 และ 5 ควรใช้เฉพาะเมื่อไม่สามารถใช้วิธี 1-3 ได้แล้ว มิเช่นนั้นท่านอาจเสียสัมพันธภาพกันได้ แต่หากกระทำด้วยเจตนาดีและพิจารณาถึงความจำเป็น ว่าหากไม่ได้พบจิตแพทย์แล้วจะเกิดผลเสียมากกว่าก็ควรกระทำ


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด