เนื้องอกสมองสำหรับประชาชน (ตอนที่ 2)

เนื้องอกสมองสำหรับประชาชน (ตอนที่ 2)

 

อ.ดร.นพ.ศรัณย์  นันทอารี

สาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์

ภาควิชาศัลยศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เนื้องอกสมองที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่

1. เนื้องอกที่เกิดจากเซลล์แอสโตรไซต์ (Astrocytic tumors)

            ในสมองนั้นนอกจากจะมีเซลล์ประสาทแล้วยังมีเซลล์ชนิดอื่นๆอีกหลายชนิดที่ไม่ใช้เซลล์ประสาทประกอบด้วยอยู่ร่วมด้วย เซลล์ดังกล่าวชนิดหนึ่งมีชื่อว่าแอสโตรไซต์ (Astrocyte) ซึ่งอาจจะเกิดความผิดปกติกลายเป็นเนื้องอกแอสโตรไซต์โตมา (Astrocytoma), เนื้องอกแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา (Anaplastic astrocytoma) หรือเนื้องอกกลัยโอบลาสโตมา (Glioblastoma) ส่วนใหญ่เนื้องอกชนิดนี้มักเกิดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุแต่ในบางคนอาจเกิดขึ้นมาเนื่องจากโรคทางกรรมพันธุ์ หรือบางคนเกิดขึ้นเนื่องจากเคยได้รับการฉายรังสีที่ศีรษะ

            - เนื้องอกแอสโตรไซต์โตมา (Astrocytoma)

            เนื้องอกแอสโตรโซต์โตมาเป็นเนื้องอกที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อสมอง ไม่มีผนังห่อหุ้มดังนั้นจึงไม่มีขอบเขตของเนื้องอกที่ชัดเจน ก้อนเนื้องอกมีความสามารถในการกลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป (กลายเป็นเนื้องอกชนิดแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา หรือกลัยโอบลาสโตมา) มักจะพบเนื้องอกชนิดนี้ในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นระหว่าง 30-40 ปี

อาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการชัก  แต่บางครั้งอาจจะมาพบแพทย์ด้วยอาการอื่นๆ  

ระดับความรุนแรง องค์การอนามัยโลกได้จัดความรุนแรงของเนื้องอกแอสโตรไซต์โตมา  เป็นระดับที่ 2 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6-8 ปีหลังจากที่เริ่มมีอาการของโรค  สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักเกิดจากเซลล์เนื้องอกแอสโตรไซต์โตมากลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงมากขึ้น (กลายเป็นเนื้องอกชนิดแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา หรือกลัยโอบลาสโตมา)

การรักษา   เนื้องอกแอสโตรไซต์โตมานั้นปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน อย่างไรก็ตามแพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ทำผ่าตัดเพื่อลดจำนวนเซลล์เนื้องอกลงให้น้อยที่สุด โดยมีความเชื่อว่าเมื่อจำนวนเซลล์เนื้องอกลดน้อยลงจากการผ่าตัดแล้วจะทำให้ชะลอระยะเวลาที่เนื้องอกจะกลายพันธุ์เป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรง  เนื่องจากเนื้องอกแอสโตรไซต์โตมาแทรกกระจายอยู่ในเนื้อสมองโดยไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนจึงไม่สามารถผ่าตัดออกได้หมดทุกๆ เซลล์ได้อย่างแท้จริง หลังผ่าตัดจะยังคงมีเซลล์เนื้องอกหลงเหลืออยู่ เซลล์เนื้องอกที่ยังหลงเหลืออยู่นี้แพทย์อาจจะแนะนำให้สังเกตอาการต่อโดยไม่ทำการฉายแสงหรืออาจจะแนะนำให้ทำการฉายแสงตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

            - เนื้องอกแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา (Anaplastic astrocytoma)

            เนื้องอกแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา  แทรกซึมอยู่ในเนื้อสมองโดยที่ไม่มีขอบเขตชัดเจนเช่นเดียวกับเนื้องอกแอสโตรไซต์โตมาแต่มีการแพร่กระจายและการขยายตัวที่รวดเร็วกว่า เนื้องอกแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา และมีความสามารถในการกลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงมากขึ้นตามระยะเวลา (กลายเป็น เนื้องอกกลัยโอบลาสโตมา)  มักจะพบเนื้องอกชนิดนี้ในช่วงผู้ใหญ่ตอนปลายระหว่าง 40-50 ปี

อาการ   ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดศีรษะ อาการชักหรืออาการผิดปรกติของสมองในรูปแบบต่างๆ

ระดับความรุนแรง  องค์การอนามัยโลกได้จัดความรุนแรงของเนื้องอกแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา เป็นระดับที่ 3 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2-3 ปีหลังจากที่เริ่มมีอาการของโรค

การรักษา  ต้องใช้วิธีผ่าตัด ฉายแสง และให้ยาเคมีบำบัดร่วมกันโดยจะเริ่มต้นจากการผ่าตัดออกให้มากที่สุดก่อน หลังจากนั้นจะทำการฉายแสงร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด

            - เนื้องอกกลัยโอบลาสโตมา (Glioblastoma)

            เนื้องอกกลัยโอบลาสโตมาเป็นเนื้องอกสมองที่มีความรุนแรงมาก สามารถกล่าวได้ว่าเป็นมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดของสมอง แต่เป็นที่น่าเสียใจว่ากลัยโอบาสโตมานั้นเป็นเนื้องอกสมองชนิดที่พบบ่อยที่สุด

อาการ จะมีอาการเหมือนกับเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์แอสโตรไซต์อื่นๆ แต่มีอาการที่ทรุดลงเร็วกว่า มักจะพบเนื้องอกชนิดนี้ในผู้สูงอายุระหว่าง 60-70 ปี

ระดับความรุนแรง  องค์การอนามัยโลกได้จัดความรุนแรงของเนื้องอกกลัยโอบาสโตมาเป็นระดับที่ 4  คนไข้ส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี

การรักษา  ใช้วิธีผ่าตัด ฉายแสงและให้ยาเคมีบำบัดร่วมกัน

2. เนื้องอกที่เกิดจากเซลล์โอลิโกเด็นโดรไซต์( Oligodendroglial tumors)

            ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่าสมองนั้นนอกจากจะมีเซลล์ประสาทแล้วยังมีเซลล์ชนิดอื่นหลายชนิดประกอบอยู่ร่วมด้วย เซลล์ดังกล่าวชนิดหนึ่งมีชื่อว่าโอลิโกเด็นโดรไซต์ ( Oligodendrocyte) ซึ่งอาจเกิดความผิดปรกติกลายเป็นเนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา (Oligodendroglioma) หรือเนื้องอกแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา (Anaplastic oligodendroglioma)

            -  เนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา (Oligodendroglioma)

            เนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมาเป็นเนื้องอกที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อสมอง เช่นเดียวกับเนื้องอกแอสโตรโซต์โตมาแต่มีความรุนแรงน้อยกว่า เนื้องอกไม่มีผนังห่อหุ้มและไม่มีขอบเขตของเนื้องอกที่ชัดเจน ก้อนเนื้องอกมีความสามารถในการกลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป (กลายเป็นเนื้องอกชนิดแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา) มักจะพบเนื้องอกชนิดนี้ในช่วงวัยผู้ใหญ่ประมาณ 40-45 ปี

อาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการชัก  แต่บางครั้งอาจจะมาพบแพทย์ด้วยอาการอื่นๆ  

ระดับความรุนแรง  องค์การอนามัยโลกได้จัดความรุนแรงของเนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมาเป็นระดับที่ 2 ก้อนเนื้องอกมีการเติบโตที่ไม่รวดเร็วนัก  ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้นานอาจจะมากกว่า 10 ปี   สาเหตุการเสียชีวิตมักเกิดจากเซลล์เนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา มีการงอกซ้ำหลังการรักษาหรือมีการกลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงมากขึ้นเป็นเนื้องอกแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา

การรักษา   เนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมารักษาโดยการทำผ่าตัด เนื้องอกที่ยังหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัดนั้นแพทย์อาจจะแนะนำให้สังเกตอาการต่อโดยไม่ทำอะไรหรืออาจจะแนะนำให้ยาเคมีบำบัดหรือทำการฉายแสงตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

            - เนื้องอกแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา (Anaplastic oligodendroglioma)

            เนื้องอกอาการแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมาแทรกซึมอยู่ในเนื้อสมองไม่มีขอบเขตชัดเจนเช่นเดียวกับเนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา แต่มีการแพร่กระจายและการขยายตัวที่รวดเร็วกว่า มักจะพบเนื้องอกชนิดนี้ในช่วงผู้ใหญ่ตอนปลายระหว่าง 40-50 ปี

อาการ   ผู้ป่วยอาจจะมีอาการชัก อาการปวดศีรษะ หรืออาการผิดปรกติของสมองในรูปแบบต่างๆ

ระดับความรุนแรง  องค์การอนามัยโลกได้จัดความรุนแรงของเนื้องอกแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา  เป็นระดับที่ 3 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 4-5 ปี

การรักษา  ใช้วิธีผ่าตัด ให้ยาเคมีบำบัดและฉายแสงร่วมกัน

3. เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง (Meningioma)

            สมองที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะจะถูกห่อหุ้มอยู่ด้วยเยื่อหุ้มสมอง (Mening) ซึ่งเยื่อหุ้มสมองดังกล่าวอาจจะเกิดความผิดปรกติกลายเป็นเนื้องอกขึ้นมาได้ มักพบเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองในช่วงวัยผู้ใหญ่และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนใหญ่เนื้องอกชนิดนี้เกิดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุแต่ในบางคนอาจเกิดขึ้นมาเนื่องจากโรคทางกรรมพันธุ์ หรือบางคนเกิดขึ้นเนื่องจากเคยได้รับการฉายแสงที่ศีรษะเป็นต้น ในบางคนสามารถพบเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองได้มากกว่าหนึ่งก้อน

อาการ  เนื่องจากเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองอาจจะเกิดขึ้นที่เยื่อหุ้มสมองส่วนใดก็ได้ดังนั้นอาการที่แสดงออกมาขึ้นอยู่กับว่าก้อนเนื้องอกนั้นไปมีผลรบกวนต่อสมองส่วนใด เช่น อาจจะมีอาการชัก อาการปวดหัวอาเจียน อาการตามัว เดินเซ เห็นภาพซ้อน ใบหน้าชา หูหนวก แขนขาไม่มีกำลัง หรืออื่นๆ

ระดับความรุนแรง   เนื้องอกเยื่อหุ้มสมองเป็นเนื้องอกที่อยู่นอกสมองไม่ได้เกิดขึ้นในเนื้อสมองโดยตรง  ก้อนเนื้องอกมีขอบเขตที่ชัดเจน และเนื้องอกส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตที่ช้าคนไข้มักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไปในเวลานานเป็นเดือนเป็นปี เนื้องอกส่วนใหญ่มีความรุนแรงอยู่ในระดับที่ 1 และสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัดออกให้หมด แต่อย่างไรก็ตามมีเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองส่วนน้อยมีความที่รุนแรงในระดับที่ 2 หรือระดับที่ 3 ซึ่งอาจจะไม่สามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้และคุกคามต่อชีวิต

การรักษา   วิธีมาตรฐานที่ดีที่สุดในการรักษาเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองคือการผ่าตัดเอาออกให้หมดซึ่งจะสามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้ อย่างไรก็ตามแพทย์อาจจะไม่สามารถผ่าตัดเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองออกได้หมดเสมอไปทุกครั้งเนื่องจากบางครั้งเนื้องอกอาจจะเติบโตหุ้มรอบเส้นเลือดสมองหรือเส้นประสาทที่สำคัญซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือพิการถ้าผ่าตัดออกหมด ในกรณีที่ผ่าตัดออกได้ไม่หมดแพทย์อาจจะแนะนำให้รักษาเนื้องอกส่วนที่เหลือโดยการฉายรังสีซึ่งจะช่วยป้องกันหรือชะลอไม่ให้ก้อนเนื้องอกเติบโตขึ้นมาใหม่

            ในปัจจุบันการฉายรังสีสามมิติสามารถเป็นการรักษาทางเลือกหนึ่งที่สามารถควบคุมการเติบโตของเนื้องอกได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขว่าก้อนเนื้องอกนั้นจะต้องมีขนาดเล็กเท่านั้น ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่จะไม่สามารถรักษาโดยการฉายรังสีได้ หลังจากฉายรังสีแล้วถึงแม้เนื้องอกจะไม่ยุบหายไปแต่จะมีขนาดคงที่หรือโตช้าขึ้นมากและไม่เป็นภัยคุกคามต่อผู้ป่วยโดยทั่วไปแพทย์จะเลือกใช้การฉายรังสีสามมิติกับเศษเนื้องอกขนาดเล็กที่หลงเหลือจากการทำผ่าตัดหรือใช้แทนการผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัดเช่นอายุมาก สุขภาพไม่แข็งแรงและมีเนื้องอกขนาดเล็กอยู่ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูง

           

- มีต่อตอนที่ 3-

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด