เลเซอร์ เลสิก ต่างกันอย่างไร

ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

          เลเซอร์ (LASER) คือ ลำแสงที่ได้รับการกระตุ้นให้มีพลังงานเพิ่มมากขึ้นจนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาด้านต่างๆ ได้ ยกตัวเช่น ในทางจักษุวิทยาใช้แสงเลเซอร์ในการรักษาเบาหวานขึ้นตา โรคต้อหินบางชนิด ถุงหุ้มเลนส์ขุ่นหลังผ่าตัดต้อกระจก เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้รักษาสายตาผิดปกติได้ การผ่าตัดรักษาสายตาผิดปกติโดยใช้เลเซอร์ เรารู้จักกันดีในชื่อเลสิก (LASIK) นั่นเอง

          สายตาผิดปกติ ได้แก่ สายตาสั้น ซึ่งพบบ่อยที่สุด รองลงมา คือ สายตายาวและสายตาเอียง ซึ่งสาเหตุของความผิดปกตินี้ส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรมทำให้มีความผิดปกติของความโค้งของกระจกตา เลนส์แก้วตาหรือความยาวของลูกตาส่งผลให้เห็นเห็นภาพไม่ชัดเจน

          ความผิดปกติของสายตาสามารถแก้ไขให้เห็นชัดได้โดยการใช้แว่นสายตาหรือเลนส์สัมผัส แต่ในบางกรณีผู้ป่วยอาจไม่สามารถใส่แว่นสายตาหรือเลนส์สัมผัสได้ เช่น ค่าสายตาแตกต่างกันมากในตาทั้ง 2 ข้าง หรืออาจไม่เป็นที่พอใจของผู้ใช้บางราย การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติจึงมีประโยชน์ในผู้ป่วยกลุ่มนี้

          การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติมีหลายรูปแบบ ซึ่งเลสิก (LASIK) เป็นวิธีการผ่าตัดที่นิยมเนื่องจากผลการรักษาดี ทำโดยการแยกกระจกตาชั้นผิวเป็นลักษณะคล้ายบานพับ แล้วใช้แสงเลเซอร์ทำการเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาตามค่าสายตาของผู้ป่วยแต่ละรายโดยคำนวณจากคอมพิวเตอร์ แล้วจึงปิดชั้นผิวกระจกตากลับไว้ตามเดิมโดยไม่ต้องเย็บ ซึ่งทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นทำการหยอดยาปฏิชีวนะแล้วใส่ที่ครอบตาไว้เพื่อป้องกันการขยี้ตา ซึ่งอาจทำให้ชั้นผิวกระจกตาที่ปิดไว้มีการเคลื่อนที่ได้ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจในวันรุ่งขึ้น และเป็นระยะ ๆ หลังจากผ่าตัด เพื่อดูผลข้างเคียง และวัดระดับสายตาที่เปลี่ยนไป

ผู้ที่เหมาะสมในการรักษาด้วยวิธีเลสิก
          1. ควรมีอายุอย่างน้อย 18 ปีขึ้นไป มีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี ไม่มีโรคของกระจกตา และโรคตาอย่างอื่นที่รุนแรง เช่น ต้อหิน ประสาทตาเสื่อม ตาติดเชื้อ ตาแห้ง ผิวตาเสื่อม เป็นต้น
          2. ในรายที่ใส่เลนส์สัมผัสอยู่ ควรหยุดใส่มาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ สำหรับเลนส์สัมผัสชนิดนิ่ม และอย่างน้อย 2 สัปดาห์ สำหรับเลนส์สัมผัสชนิดแข็ง

ผู้ที่ไม่เหมาะสมในการรักษาด้วยวิธีเลสิก
         
1. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคต้านเนื่อเยื่อของตนเอง (โรค SLE โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์) โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้นกันบกพร่อง
          2. กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ก่อนการทำเลสิกผู้ป่วยจะได้รับการตรวจตาอย่างละเอียด วัดค่าสายตา ความหนาของกระจกตา สภาพความโค้งของกระจกตา ขนาดรูม่านตา และจอประสาทตา

          การรักษาด้วยวิธีเลสิกได้ผลดี พบว่า 90% มีระดับการมองเห็นเท่ากับคนปกติ ในกรณีที่มีค่าสายตาเริ่มต้น (ค่าสายตาก่อนผ่าตัด) น้อยกว่า -6.00 D และประมาณ 80% มีระดับการมองเห็นเท่ากับคนปกติ ในกรณีที่มีค่าสายตาเริ่มต้นมากกว่า -6.00 D หรือสายตาเอียงมากรวมถึงสายตายาว

          ผลที่เกิดตามหลังการทำเลสิก ได้แก่ อาการเคืองตาน้ำตาไหลหลังผ่าตัดในวันแรก ค่าสายตามีการเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ในเดือนแรก อาจเห็นแสงกระจายหรือสีรุ้งรอบดวงไฟในเวลากลางคืนซึ่งจะค่อยๆ ลดลง

          ผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถทำเลสิกได้ ยังมีทางเลือกในการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การทำ PRK (Photorefractive Keratectomy) การใส่เลนส์เสริมในลูกตา เป็นต้น ขึ้นอยู่กับสภาพตาของผู้ป่วย

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด