เกลื้อน

เกลื้อน

ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เกลื้อนคืออะไร ?
          เกลื้อน เป็นโรคเชื้อราของผิวหนังชั้นตื้น เกิดจากเชื้อราชื่อ Pityrosporum ที่อาศัยอยู่เป็นปกติในรูขุมขนของทุกคน เชื้อราชนิดนี้กินไขมันที่มีอยู่ในรูขนเป็นอาหาร ถ้าผู้ป่วยมีความต้านทานลดลง เหงื่อไคลหมักหมม เชื้อราชนิดนี้จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นแล้วก่อให้เกิดโรคที่ผิวหนังเป็นดวงขาวมีขุย โรคนี้พบบ่อยในบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันมาก ๆ เช่น หน้าอก และหลัง เป็นต้น

เกลื้อนมีลักษณะเป็นอย่างไร ?
          โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะวินิจฉัยโรคนี้ได้เองอยู่แล้ว ลักษณะของผื่นในโรคเกลื้อนจะพบเป็นวงเล็กๆ ขนาดตั้งแต่ 1มม.  รอบ ๆ รูขุมขนจนถึงรวมกันเป็นปื้นใหญ่ มีขุยละเอียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้เล็บขูดเบาๆ จะมีขุยเล็ก ๆ สีขาวฟูขึ้นมา ผื่นนี้จะพบสีได้ต่างๆ กัน เช่น อาจเป็นวงสีขาว สีชมพู สีเทา จนถึงสีน้ำตาลก็พบได้ พบได้บ่อยในบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันมาก เช่น หน้า ต้นคอ หน้าอก หลัง อาจมีอาการคันได้เวลาเหงื่อออก

ใครบ้างที่เป็นเกลื้อนได้บ่อย ?
           เกลื้อนพบบ่อยในกลุ่มวัยรุ่น ทั้งหนุ่มและสาว เพราะเป็นวัยที่ต่อมไขมันทำงานมาก ผู้ที่เป็นโรคเกลื้อนมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่ กล่าวคือจะเป็นคนผิวมัน มีความต้านทานต่อเชื้อเกลื้อนน้อยกว่าคนทั่วไป ผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานที่อบ ร้อน เหงื่อมากมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ง่าย

เกลื้อนรักษาอย่างไร ?
            ดังได้กล่าวแล้วว่าผู้ที่เป็นโรคเกลื้อนมีแนวโน้มทางพันธุกรรม ร่วมกับอยู่ในสภาวะเหมาะที่เชื้อราจะเจริญเติบโตเพิ่มจำนวน ดังนั้นการดูแลรักษาควรทำ 2 ทาง คือ
1.  ใช้ยาลดการเจริญเติบโตของเชื้อเกลื้อน ซึ่งมี 2 รูปแบบ
           1.1. ยาทา ได้แก่
                   1.1.1 ยาน้ำทา เช่น 20% โซเนียมทัยโอซัลเฟต เหมาะกับผื่นเกลื้อนที่เป็นมากๆ
                   1.1.2 ยาฆ่าเชื้อราชนิดครีม ยากลุ่มนี้ได้แก่ Clotrimazole ครีมเหมาะกับผื่นเกลื้อนที่
เป็นบริเวณไม่กว้างมาก
                   1.1.3 สบู่ หรือแชมพูที่มีส่วนผสมของสารคีโตโคนาโซน หรือสารเซเลเนียมซัลไฟล์ วิธีใช้ยาแชมพูทำดังนี้ ให้ผู้ป่วยอาบน้ำฟอกตัวให้สะอาดด้วยสบู่ ตามปกติ เมื่อเสร็จแล้วอย่าเพิ่มเช็ดน้ำที่ติดบนผิวหนังออก แต่ใช้แชมพูยาลูบไปทั่วบริเวณที่เป็น ทิ้งไว้นาน 5 นาที แล้วจึงอาบน้ำล้างแชมพูออก อย่าปล่อยทิ้งแชมพูยาให้อยู่บนผิวหนังนานเพราะอาจเกิดอาการระคาย จากแชมพูยาได้
           1.2 ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทาน จะใช้เฉพาะในรายที่เป็นมาก และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพราะยารับประทานอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ นอกจากนี้ยายังมีราคาแพง

2.  รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ควรจะซักและนำออกผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้อีกครั้ง และไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่น อาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้เหงื่อไคลหมักหมม

ดวงขาวที่เกิดจากโรคเกลื้อนจะหายไปเมื่อใด ?
              ดวงขาวในโรคเกลื้อนอาจเป็นอยู่นานหลายเดือนผู้ป่วยบางราย ทั้งๆ ที่เชื้อเกลื้อนถูกทำลายด้วยยาแล้ว แต่ดวงขาวยังคงอยู่ทั้งนี้เพราะขณะที่เป็นโรคเกลื้อน เชื้อราได้สร้างสารเคมีบางชนิดไปกดการทำงานของเซลล์เม็ดสี ดังนั้นดวงขาวในโรคนี้จะกลับมาเป็นผิวสีปกติได้ต่อเมื่อเซลล์เม็ดสีสร้างเม็ดสีกลับมาดังเดิมซึ่งต้องใช้เวลานานเป็นเดือนในผู้ป่วยบางราย

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด