โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้: โรคหนองใน
โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้: โรคหนองใน
อ.พญ.เจนจิต ฉายะจินดา
พยาบาลวิชาชีพ ขวัญจิตร เหล่าทอง
หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย อาการมักรุนแรงและชัดเจน จนผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ หากทิ้งไว้ไม่รักษาอาการดีขึ้นได้เองเล็กน้อยแต่ตัวโรคยังคงเป็นอยู่ และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ได้แก่ ภาวะมีบุตรยากทั้งหญิงและชาย ปวดท้องน้อยเรื้อรัง และการตั้งครรภ์นอกโพรงมดลูก
สาเหตุของโรคหนองใน
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อ Neisseria gonorrhoeae ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในน้ำอสุจิและสารน้ำในช่องคลอด จึงถ่ายทอดผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก และสามารถถ่ายทอดได้บ้างโดยการสัมผัสโดยตรง เช่น ทารกที่คลอดผ่านทางช่องคลอดของมารดาที่ติดเชื้อ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุตา
นอกจากนี้เชื้อหนองในยังสามารถพบที่เซลล์ของปากมดลูก ท่อปัสสาวะ ทวารหนักและช่องคลอดได้อีกด้วย ในสตรี เชื้อสามารถแพร่จากช่องคลอดไปทวารหนักได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก สำหรับการมีเพศสัมพันธ์โดยการใช้มือหรือนิ้วช่วย ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทำให้เกิดการถ่ายทอดเชื้อได้ กิจกรรมต่อไปนี้ ไม่ทำให้เกิดการถ่ายทอดเชื้อหนองใน ได้แก่ กอด จูบ ใช้ห้องน้ำหรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน การใช้สระว่ายน้ำร่วมกัน การใช้ห้องน้ำ หรือการใช้แก้วน้ำ จาน ชามร่วมกัน
อาการของโรคหนองใน
พบว่าผู้ชายร้อยละ10 และผู้หญิงร้อยละ 50 จะไม่แสดงอาการ ในกรณีที่มีอาการจะเริ่มแสดงอาการเมื่อ 1-14 วันหลังได้รับเชื้อ อาการในผู้หญิง ได้แก่ ตกขาวผิดปกติ เช่น ปริมาณมากขึ้น มีสีเหลืองหรือเขียว แสบเวลาปัสสาวะ ปวดท้องน้อย เลือดออกกะปริบกะปรอย ระหว่างรอบเดือน(พบน้อย) เป็นต้น สำหรับอาการในผู้ชาย ได้แก่ มูกใสออกจากท่อปัสสาวะโดยไม่ใช่น้ำปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ แสบ เวลาปัสสาวะ ปวดที่อัณฑะ มีการอักเสบที่หนังหุ้มปลายองคชาต(พบน้อย) เป็นต้น
การติดเชื้อที่บริเวณอื่นๆ จะทำให้เกิดอาการที่ไม่แตกต่างกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ได้แก่ การติดเชื้อในทวารหนัก อาจทำให้เกิดอาการปวดหน่วงหรืออาจมีสารน้ำคล้ายหนองออกมาการติดเชื้อในลำคอมักไม่มีอาการใด การติดเชื้อที่เยื่อบุตา จะทำให้มีอาการเจ็บปวด ระคายเคืองและมีหนองได้
จะทราบได้อย่างไรว่ามีการติดเชื้อหนองในแล้ว
หากท่านหรือคู่นอนมีอาการข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ท่านควรเข้ามารับการตรวจที่หน่วยฯ เมื่อท่านมาที่หน่วยฯ ท่านจะได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน นำตกขาวไปตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์และส่งเพาะเชื้อ ขั้นตอนในการวินิจฉัยเบื้องต้น สามารถทำได้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน ส่วนผลการเพาะเชื้อจะทราบภายใน 1 สัปดาห์ เมื่อผลการตรวจสนับสนุนว่าท่านติดเชื้อหนองใน ท่านควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นร่วมด้วย ได้แก่ โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคซิฟิลิส การเก็บสิ่งส่งตรวจควรทำทุกตำแหน่งที่มีเพศสัมพันธ์ ได้แก่การตรวจหาเชื้อในคอหากท่านเคยมีเพศสัมพันธ์โดยการใช้ปาก และการตรวจทางทวารหนักหากท่านเคยมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เป็นต้น ในปัจจุบันมีการตรวจโดยการหาสารพันธุกรรมของเชื้อหนองใน แต่เนื่องจากมีราคาแพง จึงเลือกใช้สำหรับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
ความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัย
ขึ้นกับตำแหน่งและปริมาณเชื้อหนองใน พบว่าการตรวจที่บริเวณคอจะมีความแม่นยำน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ไม่มีการตรวจใดให้ผล 100 % ดังนั้นหากท่านยังคงมีอาการอยู่ ทั้งที่ผลการตรวจทุกอย่างเป็นลบ แนะนำให้มาตรวจติดตามเพื่อประเมินซ้ำอีกครั้ง ในทางกลับกัน หากท่านไม่มีอาการแต่ผลการตรวจ (เนื่องจากคู่นอนของท่านติดเชื้อ) เป็นบวก แนะนำให้ท่านรับการรักษาอย่างครบถ้วน
การรักษาโรคหนองใน
การใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าร้อยละ 95 ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาในกรณีที่ท่านมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ หากไม่สามารถที่จะรับการตรวจเพื่อวินิจฉัย ควรรับยาเพื่อรักษาไปเลย ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น ท่านอาจจะต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลหรือรับการผ่าตัดแก้ไข
ยาปฏิชีวนะที่รักษาโรคหนองใน มีผลต่อประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด ในระหว่างการรักษา แนะนำให้งดการมีเพศสัมพันธ์ และในเดือนนั้นท่านควรใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัย เมื่อท่านเป็นหนองใน จะแนะนำให้รักษาโรคติดเชื้อคลาไมเดียควบคู่กัน เพราะพบร่วมกันได้ถึงร้อยละ 30
** หากได้รับการรักษาแล้วมีอาการที่สงสัยว่าแพ้ยา เช่น มีผื่นคันตามตัว คลื่นไส้อาเจียน หรือมีอาการมากขึ้น ควรไปพบแพทย์ก่อนนัด
อาการต่างๆ จะหายไปเมื่อไร
อาการต่างๆ จะหายไปค่อนข้างเร็วใน 2-3 วันหลังเริ่มการรักษา ทั้งอาการตกขาวผิดปกติและแสบเวลาปัสสาวะ ส่วนเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือนจะดีขึ้นในรอบเดือนหน้า สำหรับอาการปวดท้องน้อยและอาการปวดอัณฑะในผู้ชายจะใช้เวลานานกว่า โดยอาการมักหายภายใน 2 สัปดาห์ หากอาการต่างๆ ไม่ดีขึ้นตามนี้ ท่านควรมารับการตรวจประเมินซ้ำจากแพทย์ที่หน่วยฯ เนื่องจากพบภาวะดื้อยาได้บ่อยหรือโรคมีการลุกลามมากขึ้น
เมื่อรักษาครบแล้วจะต้องกลับมารับการตรวจซ้ำอีกหรือไม่
ท่านควรมารับการตรวจซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าหายสนิทในทุกตำแหน่งที่มีเพศสัมพันธ์ (ช่องคลอด, ทวารหนัก, ช่องปาก)
โรคหนองในไม่รักษาได้หรือไม่
ไม่ได้ ถึงแม้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากโรคหนองใน และบางรายมีอาการดีขึ้นเอง แต่ยังคงไม่แนะนำให้เพิกเฉยไม่รับการรักษา เพราะหากไม่ได้รับการรักษา ท่านก็จะแพร่เชื้อไปยังคู่นอนของท่าน และท่านจะได้รับเชื้อกลับเข้ามาอีก พบว่าภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งที่ได้รับเชื้อ นอกจากภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ได้แก่ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ภาวะมีบุตรยาก ปวดท้องน้อยเรื้อรังแล้ว เชื้อหนองในสามารถเข้าสู่กระแสเลือดและทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกายที่รุนแรงได้
จะกลับไปมีเพศสัมพันธ์อีกครั้งได้เมื่อไร
จนกว่าที่ท่านและคู่นอนของท่านจะได้รับการรักษาอย่างครบถ้วนไปแล้ว 2 สัปดาห์ ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ จำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยอย่างเคร่งครัด
จะทราบได้หรือไม่ว่าได้รับเชื้อมานานเท่าใด
บอกได้ยาก เนื่องจากตัวโรคสามารถดีขึ้นเองได้บางส่วน ทำให้มีการติดกลับไปมาระหว่างท่านและคู่นอน อาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อการติดซ้ำหลายครั้ง สำหรับภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อหนองใน พบว่าผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนเร็วช้าต่างกัน ไม่สามารถประเมินระยะเวลาได้
ควรแจ้งผลการตรวจกับคู่นอนหรือไม่
ควรอย่างยิ่ง เพื่อรักษาไปพร้อมๆ กัน โรคหนองในเป็นโรคที่รักษาได้ง่ายและหายขาด หากท่านไม่สบายใจในการแจ้งผลต่อคู่นอนหรือตามคู่นอนมารับการตรวจ ท่านสามารถมารับคำปรึกษาจากหน่วยฯ หรือขอให้ทางหน่วยฯ เป็นผู้ประสานงานให้โดยการแจ้งผลนี้ จะไม่มีการระบุถึงตัวท่าน
จะทราบได้อย่างไรว่าโรคหนองในลดโอกาสการมีบุตรไปมากน้อยเท่าใด
ภาวะมีบุตรยากเกิดจากหลายปัจจัย โรคหนองในเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น โดยไปทำลายอวัยวะในอุ้งเชิงกราน หากท่านมีความกังวลในเรื่องนี้ แนะนำให้เข้ามาปรึกษาจากแพทย์ที่หน่วยฯ
จะเกิดอะไรขึ้นหากเป็นโรคหนองในในขณะตั้งครรภ์
โรคหนองในที่มีอาการรุนแรง อาจกระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ นอกจากนี้ หากมีเชื้อหนองใน ในช่องคลอดทารกที่คลอดผ่านทางช่องคลอดมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อ โดยเฉพาะที่บริเวณเยื่อบุตา ในประเทศไทยจะมีการหยอดตาทารกแรกเกิดด้วย 1% Silver Nitrate ทุกรายเพื่อลดโอกาสในการเกิดการติดเชื้อนี้
โรคหนองในทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกหรือไม่
ไม่
หมายเหตุ : เมื่อเป็นโรคหนองในซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรได้รับการปรึกษาเพื่อรับการตรวจเลือดหาเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่แฝงในเลือดโดยไม่มีอาการคือ โรคซิฟิลิส โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคเอดส์หรือเชื้อเอชไอวี เพราะมีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อดังกล่าวร่วมมาด้วย จะได้เข้าถึงการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ
หากท่านมีข้อสงสัย หรือต้องการรับข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี (คลินิก 309) ชั้น 3 ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศิริราช โทรศัพท์ 02-419-7377, 02-419-4899 E-mail address: siriraj.309@hotmail.com หรือsiriraj.309@gmail.com