ตาบอดจากโรคเบาหวาน
ตาบอดจากโรคเบาหวาน
รศ.นพ.อภิชาติ สิงคาลวณิช
ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากมีความผิดปกติของระดับฮอร์โมนอินสุลิน ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยผู้ป่วยจะมีระดับฮอร์โมนอินสุลินต่ำ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น มีน้ำตาลออกมากับปัสสาวะ อาการเริ่มแรกที่ปรากฏคือปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ อ่อนเพลีย เมื่อเป็นโรคนานขึ้น จะมีการชาตามปลายมือ ปลายเท้า มีการเปลี่ยนแปลงในหลอดเลือดตามอวัยวะต่าง ๆ ผนังหลอดเลือดจะหนาตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หัวใจ ไต และตา
การตรวจที่ทำให้ทราบว่าเป็นเบาหวานคือ ตรวจพบมีน้ำตาในปัสสาวะ และการตรวจเลือดพบมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ
สาเหตุของตามัว และตาบอดในโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานทำให้มีการเปลี่ยนปลงทางตา เกิดอาการตามัว จนกระทั่งถึงตาบอดได้ ถ้าเป็นโรคนานหลายปี อาการตามัวจากเบาหวานเกิดได้ดังนี้
ก.ตามัวขณะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีอาการตามัว ในขณะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากเลนส์ตาเกิดการบวมน้ำ เวลามองภาพไม่สามารถปรับโฟกัสภาพให้เห็นชัดได้ ลักษณะที่เกิดเหมือนกับคนที่มีสายตาสั้น อาการเหล่านี้เกิดเพียงชั่วคราว เมื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับสายตาจะกลับดีขึ้นได้
ข.ตามัวเนื่องจากเป็นต้อกระจก
ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานนาน ๆ เลนส์ตาที่ใสจะขุ่น ที่เราเรียกว่าต้อกระจก เกิดเนื่องจากน้ำตาลในเลือดมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสารซอบิตอล และฟรุคโตส ซึ่งสารเหล่านี้จะสะสมที่เลนส์ตาทำให้เลนส์ตาขุ่นบังแสงมิให้เข้าสู่นัยน์ตา วิธีรักษาคือ เมื่อต้อกระจกขุ่นมาก ทำการผ่าตัดเอาเลนส์ที่ขุ่นออก และให้ผู้ป่วยใส่แว่น
ค. ตามัวเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงที่จอประสาทตา
สาเหตุเกิดจาก :จุดรับภาพที่จอประสาทตาบวม มีเลือดออกภายในลูกตาดำ เกิดเยื่อผังผืดดึงรั้งให้จอประสาทตาลอกจอประสาทตาของคนปกติ ประกอบด้วยเส้นเลือดจำนวนมากแผ่เป็นร่างแหเลี้ยงเซลล์ประสาทตา การรับรู้ภาพเกิดโดยแสงจากวัตถุ ผ่านตาดำและเลนส์ตา หักเหรวมแสงให้ภาพตกที่จอประสาทตา การรับรู้ภาพเกิดโดยแสงวัตถุ ผ่านตาดำและเลนส์ตา หักเหรวมแสงให้ภาพตกที่จอประสาทตา และการรับรู้ถ่ายทอดจากจอประสาทตา ผ่านตามเส้นประสาทจากนัยน์ตาไปยังสมอง
ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมานาน จอประสาทตามีการเปลี่ยนแปลงโดยในระยะแรก หลอดเลือดฝอยที่ประสาทตา มีการโป่งพอง และอาจแตกเห็นเป็นจุดเลือดออกเล็ก ๆ อาจพบไขมันออกจากผนังหลอดเลือดไขมันเหล่านี้ ถ้ารวมอยู่บริเวณจุดรับภาพ จะทำให้ตามัวมองภาพไม่ชัด
ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมานานเป็นสิบ ๆ ปี จอประสาทตาส่วนที่ขาดเลือดจะถูกกระตุ้น ให้เกิดเส้นเลือดขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีผนังเปราะและแตกออกง่าย ในระยะที่มีเส้นเลือดผิดปกติเกิดขึ้นนี้อันตรายมาก เพราะเส้นเลือดแตกง่าย ทำให้เลือดออกภายในลูกตา และตามัวลงทันที นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีเนื้อเยื่อคล้ายพังผืดงอกตามเส้นเลือด และดึงรั้งให้ชั้นของประสาทตาลอก ทำให้ตาบอดได้
การเปลี่ยนแปลงที่ชั้นประสาทตาเหล่านี้ พบว่าสัมพันธ์กับระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ถ้าเป็นเบาหวานมานาน 15 ปี โอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงที่จอประสาทตามี 50-60 เปอร์เซ็นต์ และเกิดตาบอดได้ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ง.ตามัวจากต้อหิน
ผู้ป่วยเบาหวานพบเป็นต้อหินได้ เนื่องจากเกิดเส้นเลือดที่ผิดปกติที่บริเวณม่านตา (เป็นส่วนตาดำที่มองเห็น) เส้นเลือดเหล่านี้จะอุดทางเดินของน้ำภายในลูกตา ทำให้ความดันตาสูง ผู้ป่วยมีอาการปวดตา ตามัว และเมื่อเป็นนานเข้า ความดันจะกดให้ประสาทตาฝ่อ และตาบอดได้
การป้องกันมิให้สายตาเสื่อมลง
ก.ตรวจสุขภาพตาเป็นระยะ ๆ
ผู้ป่วยเบาหวาน ควรได้รับการตรวจสายตา และจอประสาทตาโดยแพทย์ การเปลี่ยนแปลงที่ตรวจพบได้ในระยะแรก คือการโป่งพองของเส้นเลือดฝอยที่จอประสาทตา สิ่งสำคัญที่บอกถึงการพยากรณ์โรค และอัตราเสี่ยงต่อการเกิดตาบอดในภายหลังก็คือ การพบเส้นเลือดที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งเห็นได้โดยการใช้กล้องตรวจดูประสาทตา หรือฉีดสีเข้าเส้นเลือด และถ่ายภาพดูเส้นเลือดที่ประสาทตา
ข. ควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติ
ถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการควบคุมระดับน้ำตาลจะช่วยยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของประสาทตามิให้เลวลง ได้ผลจริงหรือไม่ แต่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ก็สามารถลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ของโรค จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง
ค. การจี้ด้วยแสงเลเซอร์
แสงเลเซอร์ เป็นสิ่งที่มีความยาวของคลื่นแสงขนาดเดียวกัน สามารถปรับให้ลำแสงมีขนาดเล็กมาก แสงนี้สามารถผ่านตาดำ เลนส์ตา และเมื่อกระทบกับประสาทตา จะถูกเปลี่ยนพลังงานจากพลังงานแสงเป็นพลังงานความร้อน
การใช้แสงเลเซอร์จี้ที่ประสาทตา ทำให้ส่วนของจอประสาทตาที่ขาดเลือด ต้องการออกซิเจนลดลง เป็นการป้องกันมิให้เกิดเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติ นอกจากนี้แสงเลเซอร์ยังใช้จี้เส้นเลือดที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ฝ่อไปได้
สรุปผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมีผลแทรกซ้อนอันสำคัญทางจักษุที่ทำให้ตาบอดคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในชั้นของประสาทตา เกิดต้อกระจก และต้อหิน การป้องกันมิให้สายตาเลวลง คือตรวจสุขภาพตาเป็นระยะ ๆ เมื่อพบการเปลี่ยนแปลงที่ประสาทตามากขึ้น การรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ จะช่วยป้องกันมิให้สายตาเลวลง