หัวจ๋า...ผมลาก่อน
หัวจ๋า...ผมลาก่อน
รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หัวจ๋า..ผมลาก่อน ดูชื่อหัวเรื่องแล้วอาจงงว่าเขียนผิดหรือเปล่า น่าจะเป็นเมียจ๋า..ผมลาก่อน ที่จริงชื่อเรื่องมีความหมายดังนี้ หัวในที่นี้คือ ศีรษะของเรา ผม คือ เส้นผม เมื่อเส้นผมกล่าวคำอำลาศีรษะ ผลที่จะเกิดขึ้น คือ ...ผมร่วง......ผมบาง......ศีรษะล้าน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก อาจเป็นปัญหาที่เกิดชั่วคราวหรือเป็นปัญหาเรื้อรัง เป็นที่เดือดเนื้อร้อนใจของหนุ่มสาว ทั้งวัยแรกแย้ม และหนุ่มหรือสาวใหญ่ที่แย้มแล้ว จนถึงวัยอาวุโสที่ยังไม่ยอมแพ้ธรรมชาติ ก็เดือดร้อนทั่วไปหมด ปัจจุบันจึงมีศูนย์เส้นผมเกิดขึ้นทุกหนแห่ง ทั้งในห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล หรือศูนย์เส้นผมต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่ประกาศตัวช่วยแก้ไขปัญหาให้ท่านในทุกรูปแบบ แถมรับรองผล 100% ก็มี แต่ก่อนที่ท่านจะเลืกรับการรักษาด้วยวิธีใด ๆ ลองแวะมาอ่านบทความนี้ก่อนดีมั้ยครับ อย้างน้อยก็ช่วยท่านตัดสินใจที่จะรับการรักษาได้ไม่มากก็น้อย
สาเหตุของผมร่วง เกิดจากหลายปัจจัย
1. เผ่าพันธุ์ เพศ อายุ
2. เชื้อโรคที่เล่นงานเส้นผมโดยตรง หรือเป็นผลทางอ้อมคือ เป็นโรคติดเชื้อที่อวัยวะอื่นแล้วทำให้เกิดผมร่วงผิดปกติตามมาภายหลัง
3. สารเคมี เช่น ยาชนิดต่างๆ สารพิษปนเปื้อนในอาหาร และน้ำ
4. โรคตามระบบต่างๆ เช่น โรคไตวาย โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ
5. จิตใจที่เศร้าหมองอย่างรุนแรง และเฉียบพลัน จนถึงตกใจอย่างรุนแรง
สำหรับอาหารการกินต่าง ๆ มักจะไม่มีผลต่อภาวะผมร่วง ยกเว้นภาวะทุโภชนาการครับ
รู้ได้อย่างไรว่าผมร่วงมากผิดปกติ
ผมหลุดร่วงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเส้นผมหลุดร่วงเกิน 100 เส้น/วัน ติดต่อกันนานหลาย ๆ วัน แสดงว่ามีผมร่วงมากผิดปกติ
ภาวะผมร่วง และผมบางลง แยกเป็นกลุ่ม คือ
1. ภาวะผมร่วงเฉพาะที่ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
ผมร่วงหย่อมชนิดไม่มีแผลเป็นที่หนังศีรษะ ที่พบบ่อย ๆ ได้แก่
1.1 ผมร่วงหย่อมจากเชื้อรา พบมากในเด็ก ผมจะร่วงเป็นกระจุก ผิวหนังในบริเวณที่ผมร่วงจะมีขุยหรือสะเก็ด บางครั้งมีผื่นแดง การรักษา ต้องใช้ยารับประทาน ยาทาไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมด
1.2 ผมร่วงหย่อมจากการดึงผมตนเอง พบมากในเด็กที่มีความเครียด และเมื่อไม่มีทางระบายออกจึงดึงผมตนเอง เมื่อใช้มือลองดึงเส้นผมดูเส้นผมจะไม่หลุดติดมือออกมาง่าย ๆ เหมือนโรคผมร่วงจากเชื้อรา การรักษา ต้องอาศัยความเข้าใจพยาธิกำเนิดของโรค และเข้าใจปัญหาของผู้ป่วย อาจควรปรึกษาจิตแพทย์ร่วมในกระบวนการดูแลรักษาด้วย นอกจากนี้การทายาครีมสตีรอยด์ ร่วมกับรับประทานยาต้านฮีสตามีนจะช่วยให้อาการดีขึ้น
1.3 ผมร่วงหย่อมจากโรคภูมิแพ้รากผม ผู้ป่วยจะมีภาวะระบบภูมิคุ้มกันร่างกายรวน มีเซลล์เม็ดเลือดขาวมารบกวนรากผมทำให้เซลล์รากผมหยุดทำงาน เส้นผมจะหายไปเป็นหย่อม ๆ ผิวหนังบริเวณที่ไม่มีเส้นผมจะเรียบไม่พบตอ เส้นผมหักหรือเป็นตุ่มที่ผิวหนัง ภาวะนี้จะต่างจาก 2 โรคข้างต้น โดยทั่วไปอาจพบผมหลุดร่วงเป็นหย่อมเดียวหรือหลายหย่อม ในรายที่อาการรุนแรงผมจะร่วงทั้งศีรษะ และถ้ารุนแรงที่สุดผมและขนตามตัวจะร่วงหมดเหมือนพญาไร้ใบ
การรักษา ควรปรึกษาแพทย์เพราะการรักษาต้องใช้สตีรอยด์ชนิดยาทาหรือกินติดต่อกันเป็นเวลานาน
1.4 ผมร่วงหย่อมชนิดที่มีแผลเป็นบนหนังศีรษะ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคฝีหนองบนศีรษะ เชื้อกลากที่ศีรษะชนิดที่มีการอักเสบรุนแรง แผลไฟไหม้น้ำร้อนรวก โรคดี แอล อี ที่หนังศีรษะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่รากผมจะถูกทำลายอย่างมาก จนไม่สามารถสร้างเส้นผมใหม่มาทดแทนเส้นผมเดิม และเกิดพังผืดในชั้นหนังแท้ร่วมด้วย การรักษา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อนให้การรักษาด้วยยา
2. ภาวะผมร่วงทั่วศีรษะ ที่พบบ่อย ๆ คือ
2.1 ภาวะผมร่วงระยะ Telogen ผู้ป่วยกลุ่มนี้เส้นผมบนศีรษะเปลี่ยนจากระยะเติบโตไปเป็นระยะหยุดเจริญเติบโต ผมจึงหลุดร่วงมากผิดปกติ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคติดเชื้อชนิดต่างๆ; ไข้ทัยฟอยด์ ไข้มาเลเรีย ไข้หวัดที่มีไข้ติดต่อกันหลายวัน ยาชนิดต่าง ๆ เช่น ยากลุ่มอนุพันธุวิตามิน เอ เช่น etretinate, acitretin นอกจากนี้ยังพบในสตรีหลังคลอดบุตร ภาวะเครียดหรือตกใจอย่างรุนแรง อาการผมร่วงจะค่อย ๆ ดีขึ้น ภายในเวลา 1-2 เดือนเมื่อสาเหตุต่างๆผ่านไป
2.2 ภาวะผมร่วงทั่วศีรษะจากการติดเชื้อซิฟิลิสระยะที่ 2 ผมจะร่วงเป็นหย่อม ๆ ทั่วศีรษะคล้ายมอดแทะ การวินิจฉัยที่แน่นอนต้องอาศัยการตรวจเลือด
2.3 ภาวะผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมนเพศ ผู้ป่วยจะเกิดอาการรากผมค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากผมเส้นใหญ่ไปเป็นเส้นผมเส้นเล็ก ถ้าเกิดในผู้ชายผมจะบางลงมากในบริเวณกลางศีรษะ ส่วนผู้หญิง ผมจะบางลงบริเวณกลางศรีษะเช่นเดียวกันแต่จะไม่ล้านเตียนโล่งแบบผู้ชาย การรักษา ภาวะผมบางชนิดนี้มีหลายวิธี ดังนี้ ใช้ยาปลูกผม
1. Minoxidil มีทั้งชนิดทาและรับประทาน ไม่เหมาะที่จะให้ผู้หญิงรับประทานเพราะจะทำให้ขนตามตัว หนวด เครายาวผิดปกติ ในผู้หญิงควรใช้ยานี้ในรูปยาทาเท่านั้น
2. ยา finasteride 1 mg/day ผู้ป่วยต้องใช้ยาติดต่อกันนานอย่างน้อย 1 ปี และเมื่อได้ผลแล้วต้องใช้ยาต่อไป เพราะถ้าหยุดยาผมที่งอกขึ้นมาจะกลับบางลงเหมือนเดิม (ยาชนิดนี้ไม่ได้ผลนักในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว)
3. ยา spironolactone เป็นยาขับปัสสาวะ ใช้ลดความดันเลือด มีฤทธิ์ต้านการทำงานของฮอร์โมน androgen ทำให้เส้นผมไม่เปลี่ยนไปเป็นเส้นผมขนาดเล็ก (การใช้ยาชนิดนี้ ต้องติดตามดูความดันเลือดและระดับเกลือแร่ในเลือดเพื่อป้องกันผลข้างเคียงของยา)
ภาวะผมร่วง ศีรษะบาง ล้าน มีสาเหตุและปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ การดูแลรักษาควรตรวจหาสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ร.พ.ศิริราช มี คลินิกรับปรึกษาโรคเส้นผม ที่หน่วยตรวจโรคผิวหนังภาควิชาตจวิทยา ตึกผู้ป่วยนอกชั้นที่ 4 คอยให้บริการทุกท่าน ด้วยความพร้อมด้านบุคลากร และเครื่องมือรักษา เปิดบริการทุกวันพุธ เวลา 9.00-12.00 น. สอบถาม โทร. 0 24197380-1 ครับ