“เตรียมรับมือ…อาการคัดจมูก เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว”

“เตรียมรับมือ…อาการคัดจมูก เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว”

รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ฮัดเช่ย…เอาอีกแล้ว เมื่อไหร่จะหายซักทีนะ อาการคัดจมูก หายใจไม่ออก อากาศเปลี่ยนทีไร อาการเดิมๆ ก็กำเริบทุกที จะดีมั้ยถ้ามีตัวช่วยใหม่ๆ ลดปัญหา อาการคัดจมูก ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของคุณอีกต่อไป เรามาเตรียมตัวรับมือกันอย่างถูกวิธี เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง และชีวิตที่ดี๊ดี ในช่วงที่กำลังจะเข้าสู่หน้าหนาวกันดีกว่า
            อาการคัดจมูก คืออะไร ? อาการคัดจมูก เป็นปัญหาสุขภาพที่สร้างความรำคาญใจ เป็นอย่างมาก สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงผู้สูงอายุเลยทีเดียว อาการคัดจมูกเป็นอาการเริ่มต้นของโรคระบบทางเดินหายใจยอดฮิตหลายๆ โรค อาทิ โรคหวัด โรคภูมิแพ้ และโรคไซนัสอักเสบ อาการคัดจมูกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง  อย่างรวดเร็ว การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งภาวะภูมิแพ้ โดยส่งผลให้มีอาการหายใจไม่ออก  รู้สึกจมูกตัน มีน้ำมูกไหล มีอาการจาม บางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องของปวดหู หูอื้อ เวลาขึ้นหรือลงลิฟต์เร็วๆ เครื่องบินขึ้นหรือลงเร็ว

            คัดจมูก หายใจไม่ออก เกิดจากโรคภูมิแพ้ หรือหวัด ? คนส่วนใหญ่ที่มี อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม…มักจะแยกไม่ออกว่าอาการที่เกิดขึ้น เกิดจากการติดเชื้อ หรือเกิดจาก “โรคภูมิแพ้”  กันแน่ อาการคัดจมูก หายใจไม่ออก ส่วนใหญ่จะเกิดจาก 1. เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ 2.ติดเชื้อไวรัส  3. โครงสร้างจมูกผิดรูป  4.มีเนื้องอกในโพรงจมูก แต่สาเหตุหลักๆ ที่ตรวจพบมากที่สุดในปัจจุบัน คือ เกิดจากโรคภูมิแพ้
           
"โรคภูมิแพ้"  เป็นโรคที่พบบ่อย โดยมีสาเหตุแตกต่างกันออกไป อาทิ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  สิ่งแวดล้อม ฝุ่น ควัน  และบางรายเกิดจากพันธุกรรม อาการของโรคภูมิแพ้โดยทั่วไป  คนไข้จะมีอาการคันจมูก น้ำมูกไหล จามบ่อย แน่นจมูก เจ็บคอ เนื่องจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก มลพิษในอากาศค่อนข้างเยอะ ที่อยู่อาศัยก็แออัด แถมไลฟ์สไตล์คนก็เปลี่ยนไป ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ความเครียดสะสม ทำให้คนป่วยเป็นโรคภูมิแพ้เยอะมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจในประเทศไทยก็พบว่า ในช่วงประมาณ 40 ปีที่ผ่านมานี้ อุบัติการณ์ของโรค เพิ่มขึ้น  3-4 เท่าตัวเลยทีเดียว
            ยิ่งปล่อยไว้ ยิ่งรุนแรง ! หลายคนพอเห็นว่าอาการที่เป็นมันไม่ได้หนักหนาอะไร ปล่อยไว้เดี๋ยว ก็ดีขึ้น เป็นแบบนี้มาทั้งชีวิตก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร ไม่ต้องหาหมอ ไม่ต้องกินยา นานๆ ไปเดี๋ยวก็ดีขึ้น คุณหมอเสริมต่อว่า ถ้าคุณเป็นภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจถูกกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ต่อเนื่อง นานวันเข้าเยื่อบุจมูกที่อักเสบจะบวมขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้หายใจไม่ออก ลุกลามเป็น “ริดสีดวงจมูก”  คุณจะมีปัญหาเรื่องของนอนกรน ต้องนอนอ้าปากเพื่อหายใจทางปากแทน เพราะขาดอากาศขณะหลับ คุณภาพการนอนก็จะลดลง คุณจะรู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม ตื่นมาปากคอแห้ง เจ็บคอทุกเช้า มีน้ำมูกไหลจากจมูกลงคอตลอดเวลา หรือร้ายกว่านั้นก้อนที่ว่านี้อาจจะไปปิดรูเปิดไซนัสซึ่งอยู่บริเวณใบหน้า ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณใบหน้า ปวดศีรษะหรืออาจเกิดไซนัสอักเสบเพิ่มเติมขึ้นมา อีกโรคหนึ่งก็เป็นได้"
            โรคภูมิแพ้ รักษาให้หายขาดได้หรือไม่? ถึงแม้จะไม่มีวิธีการรักษาโรคภูมิแพ้ให้หายขาด แต่เราสามารถรักษาให้ดีขึ้น ควบคุมโรคได้มากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ซึ่งถ้าหากคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้แล้ว และไม่อยากให้อาการภูมิแพ้ที่เป็นอยู่กำเริบก็ต้องปฏิบัติดังนี้
            -หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่พิสูจน์แล้วว่ามีผลต่อตนเองให้มากที่สุด
            -พักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
            -เครียดให้น้อยลง
           
-บางคนอาจจำเป็นต้องใช้ยาอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธีตามที่แพทย์แนะนำ
            ทำความรู้จัก ยารักษาโรคภูมิแพ้ ? การเลือกใช้ยาในการรักษาโรคภูมิแพ้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและอาการของผู้ป่วย ว่ามีอาการอะไรเด่น และจะพิจารณาเลือกใช้ยาที่มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการนั้นๆ เช่น ถ้าผู้ป่วยมีอาการคัดจมูก การใช้ยาหดหลอดเลือดแบบพ่น จะมีข้อดีตรงที่ ออกฤทธิ์เฉพาะที่ เห็นผลได้เร็ว และอาการข้างเคียงน้อยกว่ายาหดหลอดเลือดแบบรับประทาน แต่ข้อควรระวังของยาหดหลอดเลือดแบบพ่นคือ ควรใช้ระยะสั้น และใช้ตามระยะที่แพทย์แนะนำเท่านั้น 
            ปลอดภัยไว้ก่อน ? คนที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ทราบดีอยู่แล้วว่า โรคภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัว ที่จะอยู่กับเราตลอดไป และบางครั้งอาการของโรคจะทำให้คุณเกิดความรำคาญ แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคชีวิตของเราอีกต่อไป ถ้าเรามีการรับมือกับโรคนี้อย่างถูกวิธี เคล็ดลับง่ายๆ สำหรับการเตรียมตัวท่องเที่ยวปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึงนี้ คือ
          - ปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง
            - เตรียมเสื้อกันหนาว เมื่อต้องเดินทางไปในที่อากาศเย็น
            - เตรียมยาที่จำเป็น เช่น ยาแก้แพ้ ยาหดหลอดเลือดแบบทานหรือแบบพ่นเพื่อแก้อาการคัดจมูก และอาการหูอื้อ ปวดหู ขณะเครื่องบินขึ้น-ลง ติดกระเป๋าไปด้วย

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด