วินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมด้วยการตรวจทางรังสี

วินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมด้วยการตรวจทางรังสี

 

รศ.พญ.ธัญญลักษณ์  เธียรธัญญกิจ

สาขาวิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


            ปัจจุบันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จากการที่คนเรามีอายุที่ยืนยาวขึ้น โดยที่ส่วนใหญ่มักจะรู้ตัวก็เมื่อเป็นแล้ว  การตรวจเฉพาะทางที่สามารถวินิจฉัยโรคในระยะแรกเริ่มได้ อาจช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

            สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบมากที่สุดคือ โรคอัลไซเมอร์ โดยอาจพบร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ ของสมองได้ การวินิจฉัยนั้น โดยทั่วไปจะอาศัยจากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการทำแบบประเมินสุขภาวะทางจิตเป็นหลัก ซึ่งอาจยังไม่เพียงพอ เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีผลรบกวนจากโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ทำให้มีอาการคล้ายคลึงกับภาวะสมองเสื่อมได้ ดังนั้นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงการตรวจภาพรังสีสมองชนิดต่างๆ จึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยวินิจฉัยให้ถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น

           โดยทั่วไปการตรวจภาพรังสีสมองในผู้ที่สงสัยว่ามีภาวะสมองเสื่อม จะเริ่มจากการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ  แต่มีข้อจำกัดคือสามารถวินิจฉัยได้เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะสมองเสื่อมจนเกิดความผิดปกติทางกายวิภาคแล้ว นั่นหมายถึง มีรูปร่างของสมองที่เปลี่ยนไป เช่น มีขนาดสมองลดลงในบางส่วน  

          ด้วยเหตุนี้ การตรวจสมองทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยเฉพาะการตรวจที่เรียกว่าเพทสแกน จึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากเป็นการตรวจภาพรังสีสมองที่มีความแม่นยำในการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมสูงที่สุดในปัจจุบัน คือ ประมาณ 70-90%  โดยสามารถตรวจความผิดปกติของปริมาณเลือดไหลเวียนไปยังเนื้อเยื่อสมอง และการเผาผลาญน้ำตาลของเนื้อเยื่อสมอง ซึ่งเป็นความผิดปกติในระดับชีวเคมีของเซลล์  ช่วยให้วินิจฉัยรวมทั้งบอกสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมได้ตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม   หรือแม้กระทั่งตรวจการสะสมของโปรตีนบางชนิดในสมอง  ซึ่งสามารถวินิจฉัยผู้ป่วยได้ก่อนที่จะมีอาการหรืออาการแสดงของภาวะสมองเสื่อมเป็นเวลาหลายปี  

        ดังนั้น การตรวจเพทสแกน จึงอาจเป็นความหวังหนึ่งในตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมในระยะแรกเริ่ม รวมถึงใช้ในการติดตามผลทางคลินิก หรือแม้กระทั่งการพัฒนายาและวิธีการรักษาสำหรับโรคนี้ต่อไปในอนาคต

        อย่างไรก็ดี โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลแต่อย่างใด เพียงทำความเข้าใจ ให้ความสำคัญ ตรวจร่างกายสม่ำเสมอ ที่สำคัญ บุตรหลานควรเอาใจใส่ผู้สูงอายุที่บ้าน  หากพบความผิดปกติใดๆ ควรพามาพบแพทย์ เพื่อจะได้ตรวจรักษาและรับมือกันอย่างถูกต้อง ทันท่วงที

 


 

       

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด