น่ากลัว... ไวรัสตับอักเสบ ซี
น่ากลัว... ไวรัสตับอักเสบ ซี
รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี
ภาควิชาอายุรศาสตร์
อายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหาร
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ไวรัสตับอักเสบ ซี ถือเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้คนมานานโดยไม่รู้ตัว ผู้ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใดๆ เลย จนกว่าจะมีการเสื่อมของตับมากๆ อาจใช้เวลา 10 20 ปี หลังจากติดเชื้อ จึงเริ่มมีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัด คือ อ่อนเพลีย ซึ่งตอนนั้นก็มักเกิดตับแข็งแล้ว ที่ร้ายอาจเป็นมะเร็งตับ แม้โรคนี้จะเพิ่งรู้จักกันไม่ถึง 20 ปี แต่ที่ฮือฮากันเพราะดาราพิธีกรเป็นโรคนี้กัน จึงทำให้ผู้คนอยากรู้จักมากขึ้น
ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกราวร้อยละ 1 - 2 ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี คาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีผู้ป่วยภาวะตับแข็งเพิ่มขึ้นราว ร้อยละ 20 และอาจเกิดมะเร็งตับตามมาประมาณ ร้อยละ 3-5 ต่อปี ในบ้านเรา พบผู้ป่วยร้อยละ 1 - 2 หรือประมาณ 6 7 แสนคน และพบมากขึ้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ไวรัสตับอักเสบ ซี เป็น เชื้อไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA) เชื้อไวรัสนี้มีขนาดเล็กมาก แม้ว่าจะใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนส่องก็ไม่สามารถมองเห็นได้ มีเพียงวิธีสกัดเอาสารพันธุกรรมของไวรัสแล้วนำมาขยายเพิ่มจำนวนล้าน ๆ เท่าจึงจะมองเห็น ไวรัส ซี ประกอบด้วย 6 สายพันธุ์ ได้แก่สายพันธุ์ที่ 1 ถึง 6 การแบ่งสายพันธุ์ไม่เกี่ยวกับความรุนแรงแต่เกี่ยวกับการรักษาคือ ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นสายพันธุ์ที่รักษาง่าย คือ สายพันธุ์ 2 และ 3
การติดต่อส่วนใหญ่ มักผ่านทางการรับเลือด ส่วนประกอบของเลือดที่ไม่ใช่การบริจาคเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด โดยจะมีระยะฟักตัวประมาณ 6 - 8 สัปดาห์ ผู้ป่วยน้อยกว่าร้อยละ 25 อาจมีอาการอ่อนเพลีย ส่วนน้อยอาจเป็นโรคดีซ่าน ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยเพียง ร้อยละ 15 เท่านั้น ที่สามารถกำจัดไวรัสออกไปจากร่างกายได้ ส่วนอีกร้อยละ 85 จะมีอาการเรื้อรังทำให้ตับเสื่อมเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้
จากการศึกษาในผู้ป่วยโรงพยาบาลศิริราช กว่าร้อยละ 60 มีประวัติเคยได้รับเลือดก่อนปี 2533 ทำให้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี แต่ในปัจจุบัน ธนาคารเลือดของโรงพยาบาลศิริราชและสภากาชาดไทยได้มีการตรวจกรองเลือดทุกถุง ทำให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อยลง
ความเสี่ยงอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ผู้ที่ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น จากการศึกษาทั้ง 4 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ พบผู้บริจาคเลือดที่มีประวัติติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเกินกว่า 6 เดือน มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี สูงถึงร้อยละ 95 นอกจากนี้ยังพบในผู้ที่สักตามร่างกาย เจาะหู ฝังเข็มรักษาโรค หรือแม้กระทั่งการขริบอวัยวะเพศ หากเครื่องมือไม่ได้รับการฆ่าเชื้อที่ถูกต้อง ก็อาจเป็นสาเหตุของการติดต่อได้ ในผู้ป่วยที่ฟอกเลือดล้างไตก็พบบ่อยขึ้นเช่นกัน ส่วนการติดต่อทางเพศสัมพันธ์และจากมารดาสู่ทารก พบน้อยมาก มีหลายท่านมักกังวลว่า ไวรัสตับอักเสบซี จะติดต่อโดยการดำเนินชีวิตประจำวันร่วมกันกับผู้ป่วยหรือไม่ อย่าง การกิน ใช้ห้องน้ำ ทำงาน การมีเพศสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งมารดาให้นมบุตร ซึ่งเรื่องเหล่านี้ขอเรียนให้สบายใจว่า พบได้น้อยมาก ไม่มีผลกระทบต่อกันแต่อย่างใด
การวินิจฉัยสามารถทำได้โดย ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ หากผิดปกติ จะตรวจว่าเป็นตับอักเสบบีหรือซี ถ้าเป็นไวรัสตับอักเสบซีจะนำส่วนที่เป็นน้ำเหลืองไปตรวจหาภูมิต่อต้านไวรัสตับอักเสบ ซี หรือที่เรียกว่า "แอนติ เอช ซี วี (Anti-HCV)" โดยเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 300 - 400 บาท และรอผลประมาณ 1-3 วัน ในรายที่ผลเป็นบวกควรยืนยันด้วยการการตรวจไวรัสตับอักเสบซีโดยตรง โดยตรวจดูปริมาณไวรัสและสายพันธุ์ไวรัส ซึ่งการตรวจสายพันธุ์จะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจต่อการรักษา เพราะอาจรักษาง่ายใช้เวลา 6 เดือนหรือเป็นปี แต่บางรายอาจต้องเอาเนื้อตับมาตรวจ เพื่อดูพยาธิสภาพของตับก่อนตัดสินใจรักษา เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี ค่อนข้างสูงคืออย่างน้อย ประมาณ 2 - 3 แสนบาท
การรักษาในปัจจุบันใช้คู่กันทั้งยาฉีดและยากิน โดยฉีดสัปดาห์ละ 1 เข็ม กินทุกวัน 6 เดือนถึง 1 ปี ผลข้างเคียงของการใช้ยารักษาอาจเกิดความอ่อนเพลียได้ แต่เมื่อหายแล้วจะหายขาดและตับก็จะดีขึ้น ดูเหมือนว่าการรักษาแพงแต่เพียงไม่กี่เดือนหากเทียบกับโรคอื่น ๆ เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูงต้องรักษาตลอดชีวิตต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่ากันมาก ๆ เพียงแต่เหมือนผ่อนทีละน้อย ๆ
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถใช้ชีวิตและออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่ต้องไม่ลืมพักผ่อนให้พอเพียง ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ไวรัสแบ่งตัวมากขึ้นและตับเสื่อมเร็วขึ้น ไม่รับประทานยาเองโดยปราศจากคำสั่งของแพทย์ และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจระดับ AST และ ALT ว่าการอักเสบของตับอยู่ในระดับใด อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องตกใจกับระดับค่าที่วัดได้ เพราะไม่มีส่วนสัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการอักเสบ ซึ่งโดยธรรมชาติ ไวรัสชนิดนี้จะมีระดับขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นปกติอยู่แล้ว หากแพทย์พบว่าตับของท่านอักเสบต่อเนื่อง อาจพิจารณาให้การรักษา
อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการรักษา อาจเพราะไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ ฉะนั้นควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อหาทางป้องกันหรือรักษาอย่างทันท่วงทีในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ