เนื้องอกมดลูกจำเป็นต้องรักษาหรือไม่

เนื้องอกมดลูกจำเป็นต้องรักษาหรือไม่


รศ.นพ.ชัยยศ  ธีรผกาวงศ์

ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital 

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


          
มดลูก เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงมีส่วนสำคัญประกอบด้วย กล้ามเนื้อมดลูกและเยื่อบุโพรงมดลูก ในแต่ละเดือนจะมีการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นระดู หน้าที่หลักของมดลูก คือ เป็นแหล่งพำนักของตัวอ่อนระหว่างการตั้งครรภ์ สำหรับความผิดปกติที่เกิดกับมดลูกและพบได้บ่อย คือ เนื้องอกมดลูก ซึ่งเกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อมดลูกเป็นเนื้องอกที่พบบ่อยที่สุดของระบบสืบพันธุ์สตรี สำหรับชนิดที่พบบ่อยที่สุดเกิดที่กล้ามเนื้อของมดลูก เป็นเนื้องอกที่มิใช่เนื้อร้าย มักพบบ่อยในวัยตั้งแต่อายุ 30 ปี จนถึงวัยก่อนหมดระดู เนื้องอกนี้เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิง เพราะฉะนั้นในผู้ป่วยที่หมดฮอร์โมนเพศหญิง (วัยทอง) เนื้องอกชนิดนี้จะยุบลง

อาการที่พบบ่อย
           ผู้ป่วยจะมีเลือดระดูออกมากและ/หรือนานกว่าปกติ อาการอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น คลำพบก้อนที่ท้องน้อยหรืออาการกดเบียดอวัยวะอื่นจากก้อน ภาวะมีบุตรยากและอาการปวดท้องน้อยอาจจะเป็นสิ่งที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลย
เมื่อเป็นแล้วจะรักษาโดยวิธีใด

โดยปกติวิธีที่ใช้ในปัจจุบันมี 3 วิธี คือ
1. การรักษาโดยการตรวจเป็นระยะ ๆ ใช้ในผู้ป่วยที่ก้อนเนื้องอกไม่ใหญ่นัก ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ดังกล่าวแล้ว หรือผู้ป่วยที่อยู่ในวัยใกล้หรือหมดระดู
2. การรักษาโดยยาฮอร์โมนซึ่งไม่สามารถจะทำให้ก้อนเนื้องอกยุบหายหมดเพียงแต่ลดขนาดเนื้องอกลง จึงมักใช้ร่วมกับการผ่าตัด
3. การรักษาโดยการผ่าตัดอาจจะแบ่งได้เป็น
    3.1 ผ่าตัดทางช่องคลอดในรายที่เนื้องอกโผล่ออกมาทางช่องคลอด หรือรายที่ร่วมกับมดลูกเคลื่อนต่ำ
    3.2 ผ่าตัดทางหน้าท้องอาจกระทำได้โดยใช้ เจาะท้องผ่าโดยใช้เครื่องส่องช่วยอาจใช้ในผู้ป่วยบางรายที่เหมาะสม (รายละเอียดควรปรึกษาแพทย์) ส่วนการรักษาโดยผ่าตัดทางหน้าท้องที่นิยมกัน คือ การเปิดท้องผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดทั้ง 2 วิธีสามารถตัดออกเฉพาะเนื้องอกเท่านั้นในรายซึ่งต้องการเก็บมดลูกไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการตั้งครรภ์ หรือตัดมดลูกออกเลยในรายที่ไม่ต้องการมดลูกแล้ว ซึ่งจะปลอดภัยจากการเป็นซ้ำของเนื้องอกนี้ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในรายที่ยังคงเก็บมดลูกไว้

การเตรียมความพร้อมก่อนรับการผ่าตัด

           แพทย์จะซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยละเอียด รวมทั้งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ บางกรณีอาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์สาขาวิชาอื่นเพื่อให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดต่ำที่สุด ผู้ป่วยที่มีโลหิตจางจำเป็นจะต้องได้รับยาบำรุงเลือด ผู้ป่วยที่ไม่มีโลหิตจางสามารถถ่ายเลือดตัวเองเพื่อเก็บไว้ใช้ระหว่างการผ่าตัดถ้ามีความจำเป็นต้องใช้เลือด

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด