จอตาผิดปกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

จอตาผิดปกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

  ศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล

 ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ภาวะจอตาผิดปกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย  เกิดขึ้นได้อย่างไร  และมีอะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยง  ติดตามค่ะ

 

             จอตาผิดปกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of prematurity) หรือ  ROP  จะมีความผิดปกติของหลอดเลือดที่จอตา และเกิดเป็นพังผืดร่วมกับมีหลอดเลือดเกิดใหม่  โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ อายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 สัปดาห์ และน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1,500 กรัม

 

             ปกติหลอดเลือดจอตา จะเริ่มสร้างเมื่อทารกในครรภ์อายุได้ประมาณ 16 สัปดาห์ การเกิดหลอดเลือดจอตาเริ่มจากบริเวณใกล้ขั้วประสาทตา และค่อยๆ กระจายเป็นวงกว้างแบบรัศมีจากศูนย์กลางขยายไปสู่ขอบๆ โดยจะไปสุดขอบจอตาทางด้านจมูกในทารกครรภ์อายุประมาณ 36 สัปดาห์ และจะสุดขอบจอตาทางด้านหางตาเมื่อครบกำหนดคลอดที่ 40 สัปดาห์

 

              ถ้าทารกคลอดก่อนกำหนด หลอดเลือดจอตาจะยังเจริญไม่สมบูรณ์  ยิ่งอายุครรภ์น้อย ยิ่งเกิดความผิดปกติในการพัฒนาของหลอดเลือด โดยจอตาบริเวณที่ยังไม่มีการสร้างหลอดเลือด จะไวต่อการเปลี่ยนแปลงระดับออกซิเจนในเลือด ทำให้มีหลอดเลือดเกิดใหม่ร่วมกับพังผืด และตามด้วยการดึงรั้งจอตาที่ปกติให้หลุดลอก กลายเป็นพังผืดหนาอยู่หลังแก้วตา  จนเกิดการสูญเสียสายตาหรือตาบอดในที่สุด

 

               กรณีที่มีความผิดปกติน้อย   หลายรายจะมีอาการดีขึ้นจนสายตาปกติได้โดยไม่ต้องรักษา แต่ในรายที่เป็นรุนแรง หากตรวจพบได้เร็วและให้การรักษาทันท่วงที จะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้มีสายตาที่ดีขึ้น หรือกลับมามองเห็นเหมือนคนปกติได้

 

              ฉะนั้นทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักแรกเกิดน้อยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรรับการตรวจเพื่อค้นหาภาวะ ROP ส่วนการป้องกันไม่ให้ทารกต้องสูญเสียการมองเห็นในรายทารกที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรรับการตรวจจอตาอย่างละเอียดในระยะเวลาที่เหมาะสม และควรตรวจติดตามทุก 1-4 สัปดาห์ จนกว่าจะพบว่าหลอดเลือดจอตาพัฒนาเต็มที่ สำหรับทารกที่ต้องได้รับการรักษาก็จำเป็นที่จะต้องให้การรักษาภายในเวลาจำกัด คือไม่ช้ากว่า 48 – 72 ชั่วโมง ซึ่งทารกกลุ่มนี้ต้องพบจักษุแพทย์สม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด