โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะโรคเอดส์ในกลุ่มวัยรุ่นประเภทชายรักชาย นับวันจะเพิ่มมากขึ้น และที่น่าวิตกคือ ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีอายุน้อยลง ปัญหาเหล่านี้จะมีวิธีดูแลอย่างไร รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม จะไขข้อข้องใจครับ
การที่จะรู้ว่าติดเชื้อ HIV หรือไม่นั้น ต้องมีการตรวจเลือด ถ้าตรวจเลือดแล้วพบว่า ผู้นั้นติดเชื้อ HIV เนื่องจากเชื้อ HIV จะทำลายภูมิต้านทานของผู้ป่วย ดังนั้นผู้ติดเชื้อ HIV จำเป็นต้องประเมินภูมิต้านทานของตัวเองด้วยการตรวจปริมาณเม็ดเลือดขาว ที่เรียกว่า CD4 เพื่อดูระดับภูมิต้านทานของร่างกาย ซึ่งระดับ CD4 ของผู้ป่วย จะเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับการวางแผนการรักษาต่อไป
สำหรับการตรวจเม็ดเลือดขาว CD4 ถ้ามีมากกว่า 350 เซลล์ต่อลบ.มม. แสดงว่า ระดับภูมิต้านทานยังดีอยู่ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ติดเชื้อปฏิบัติตัวเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ร่างกายไม่ทรุดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ด้วยการหลีกเลี่ยงการรับเชื้อเพิ่ม โดยหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยาง ไม่ใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น ส่วนเรื่องอาหาร เน้นเรื่องอาหารที่สุกและสะอาด รวมถึงน้ำดื่มจะต้องสะอาด งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ถ้าจะรับประทานผักสด ควรล้างให้สะอาด ผลไม้ที่รับประทาน ถ้าเป็นผลไม้ที่ปอกเปลือกได้ควรปอกเปลือกทุกครั้ง
แต่ถ้าผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่ำคือมีเม็ดเลือดขาว CD4 น้อยกว่า 350 เซลล์ต่อลบ.มม. แพทย์จะแนะนำผู้ป่วยเรื่องการเริ่มให้ยาต้านไวรัส HIV เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน เพราะถ้าเม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม จะถือว่าผู้ติดเชื้อนั้นเข้าสู่ระยะที่เป็นโรคเอดส์ และมีโอกาสที่จะเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส คือเป็นเชื้อโรคที่โดยธรรมดาไม่ก่อโรคใน คนที่ภูมิต้านทานปกติ แต่จะก่อโรคในผู้ที่เม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลบ.มม.และผู้ป่วยที่เม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลบ.มม.นี้ นอกจากต้องกินยาต้านไวรัส HIV แล้ว แพทย์จะให้ยาป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสที่ป้องกันได้ เช่น ยาซัลฟา เพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อ Pneumocystis และฝีในสมองจากเชื้อ Toxoplasma ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยและป้องกันได้ในผู้ป่วยเอดส์ครับ
ปัจจุบันผู้ป่วยเอดส์สามารถรักษาให้กลับมามีสุขภาพแข็งแรง ทำงานเป็นปกติได้ โดยใช้ยาต้านไวรัสHIV แต่เนื่องจากยังมีเชื้อบางส่วนที่หลงเหลือยังถูกทำลายไม่หมด ดังนั้นหลังจากกินยาจนมีอาการดีขึ้นแล้ว การจะทำให้มีสุขภาพที่ดีตลอดไปจำเป็นต้องกินยาต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ไวรัส HIV กลับมาทำลายภูมิต้านทานของผู้ป่วยได้อีก การที่ผู้ป่วยต้องกินยาต่อเนื่องแต่มีสุขภาพที่ดี ก็เป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ไม่ยากดังเช่นโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ต้องกินยาต่อเนื่องเช่นกัน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น แต่หากผู้ป่วยหยุดยาเอง หลังจากอาการดีขึ้น นอกจากจะทำให้เชื้อดื้อยาแล้ว การรักษาจะยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น +ต้องเปลี่ยนชนิดของยาที่อาจมีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น ราคายาสูงขึ้น และประสิทธิภาพของยาที่ใช้รักษาอาจลดลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยไปตลอดชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ
การดูแลตัวเอง กินยาอย่างต่อเนื่อง เลิกสิ่งเสพติดทุกชนิด และลดความวิตกกังวล จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
|