ออกอากาศ : วันที่ 15 เมษายน 2555  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบใหม่
บทคัดย่อ:

             โรคริดสีดวงทวาร  เป็นโรคที่พบบ่อย  การรักษามีหลายวิธี  แต่ในปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบใหม่          รายละเอียดเป็นอย่างไร ติดตามจาก ผศ.ดร.นพ.วรุตม์ โล่ห์สิริวัฒน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์
              ส่วนใหญ่อาการของริดสีดวงทวาร คือ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดแดงสด หรือมีก้อนโผล่ขณะถ่ายอุจจาระ โดยทั่วไปโรคนี้แบ่งตามตำแหน่งที่เกิดได้ 2 ชนิด คือ 1. ริดสีดวงทวารชนิดภายนอก (external haemorrhoids) ซึ่งปกคลุมด้วยชั้นผิวหนัง บ้างก็เรียกว่า ติ่งเนื้อปากทวารหนัก และ 2. ริดสีดวงทวารชนิดภายใน (internal haemorrhoids) ซึ่งปกคลุมด้วยเยื่อบุลำไส้   สาเหตุหลักนั้นเกิดจากภาวะท้องผูก และการเบ่งอุจจาระนาน ๆ  ส่วนการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย อาหารรสจัด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจกระตุ้นอาการของริดสีดวงทวารให้เป็นมากขึ้นได้  แต่ไม่ใช่สาเหตุโดยตรง
             การรักษาโรคริดสีดวงทวารขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค หากเป็นริดสีดวงทวารระยะแรก หัวยังอยู่ภายใน ไม่เจ็บ แต่จะมีเลือดออกได้ และระยะที่ 2 จะมีหัวริดสีดวงยื่นออกมาจากปากทวารเมื่อถ่ายอุจจาระ แต่จะหดกลับเข้าไปเองได้ ซึ่งริดสีดวงทวารทั้ง 2 ระยะนี้ สามารถรักษาโดยให้ยารับประทานหรือยาเหน็บทางทวารหนัก ร่วมกับการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย และอาจพิจารณาการรัดหัวริดสีดวงทวารด้วยยาง หรือฉีดยาเข้าไปในตำแหน่งริดสีดวงทวารที่เลือดออก สำหรับระยะที่ 3 และ 4 ริดสีดวงทวารใหญ่มากเกินกว่าจะกลับเข้าไปเอง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น
            สำหรับการผ่าตัด จะขึ้นกับจำนวนและชนิดของริดสีดวงทวารรวมทั้งความชำนาญของศัลยแพทย์ เช่น ริดสีดวงทวาร          1 - 2 ตำแหน่ง อาจใช้อุปกรณ์พิเศษช่วยในการตัดริดสีดวงทวารโดยไม่ต้องใช้ไหมเย็บแผล   แต่ถ้าริดสีดวงทวาร  3  ตำแหน่ง   ขึ้นไป อาจใช้เครื่องมือตัดต่อเยื่อบุลำไส้ชนิดกลม โดยการตัดและเย็บนี้จะเกิดตามแนวเส้นรอบวงของช่องทวารหนัก ทำให้สามารถตัดหัวริดสีดวงออกได้ทุกหัว  และไม่ทำให้รูทวารหนักแคบลง อีกทั้งแนวการเย็บแผลอยู่สูงกว่าปากทวารหนัก ผู้ป่วยจะไม่มีแผลภายนอกเลย รวมถึงเจ็บปวดก้นหลังผ่าตัดน้อย  ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม  เนื่องจากการผ่าตัดแบบใหม่นี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หากไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ท้ายนี้มีวิธีป้องกันโรคริดสีดวงทวารมาฝากคนรักสุขภาพทั้งหลาย  รับประทานอาหารที่มีกากใยมากขึ้น  ดื่มน้ำวันละ 8 -10 แก้ว  ลดอาหารประเภทไขมัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระนานๆ หรือนั่งอ่านหนังสือในขณะขับถ่ายครับ 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช