สิ่งที่น่ายินดีที่สุดในชีวิตของผู้หญิงคือ ได้รู้ว่าตัวเองจะได้เป็นแม่ แต่กับผู้หญิงที่เป็นโรคหัวใจ การตั้งครรภ์อาจเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา อธิบายว่า โดยปกติแล้วการตั้งครรภ์ในหญิงทั่วไป จะมีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ถ้าหญิงตั้งครรภ์เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจด้วย ความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเนื่องจากขณะตั้งครรภ์ปริมาณโลหิตในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น เพื่อนำไป เสริมสร้างพัฒนาการต่าง ๆ ของทารก ปริมาณโลหิตที่เพิ่มขึ้นนั้นจะส่งผล ให้หัวใจทำงานหนักขึ้น จึงอาจเกิดอันตรายแก่หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัวใจ ได้ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อทารกในครรภ์ เนื่องจากมีความต้องการโลหิต เพื่อการเจริญเติบโตมากขึ้น หัวใจของหญิงตั้งครรภ์จึงต้องสูบฉีดโลหิตไป หล่อเลี้ยงทารกมากขึ้นเช่นกัน การมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ ประสิทธิภาพ การทำงานเพื่อสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงทารกจึงไม่ดีนัก ส่งผลให้ทารก เจริญเติบโตไม่เต็มที่ น้ำหนักน้อย ตัวเล็กกว่าปกติ สำหรับการดูแลคุณแม่ ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัวใจ แพทย์จะพิจารณาประวัติการเป็นโรคหัวใจอย่าง รอบคอบ เพื่อแนะนำการปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์แก่คุณแม่อย่างถูกต้อง เหมาะสม ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจที่เป็นและระดับความรุนแรง ของโรคด้วย แต่โดยทั่วไปแล้วหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัวใจจะระมัดระวัง ไม่ทำงานหนัก พักผ่อนเพียงพอ ควบคุมอาหารบางประเภท เช่น อาหารที่ มีไขมันสูง อาหารที่มีรสจัด โดยเฉพาะรสเค็มจัด นอกจากนี้ ยังต้อง รับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หญิงที่เป็นโรคหัวใจขั้นรุนแรง และเพิ่งจะตั้งครรภ์ ได้ไม่นาน แพทย์จะแนะนำให้ทำแท้ง เพราะถ้าตั้งครรภ์ต่อไป อาจเป็น อันตรายต่อแม่ได้ นอกจากนี้ ในช่วงคลอด หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัวใจจะ เสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายได้ง่ายจากการเหนื่อยอ่อนและความเจ็บปวด แพทย์จึงมักให้ยาระงับปวด เมื่อถึงเวลาเบ่งคลอดเพื่อช่วยให้ไม่ต้องเบ่งมาก อีกทั้งจะเลี่ยงการผ่าตัดคลอด เพราะจะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายจากการ เสียเลือดมาก การดูแลตัวเองหลังคลอดของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัวใจมี ความสำคัญไม่น้อยเลย เพราะนอกจากจะป้องกันอาการของโรคหัวใจไม่ให้ กำเริบแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพหลังคลอดของคุณแม่คนใหม่แข็งแรง พร้อม ดูแลเจ้าตัวน้อยได้เร็วขึ้น
|