มะเร็งเต้านม ถือเป็นมะเร็งที่หญิงไทยเป็นกันมากและถือเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันพบว่าโอกาสเสี่ยงที่สตรีทั่วโลกจะเป็นมะเร็งเต้านมมีมากขึ้นโดยประมาณว่า 1 ใน 10 มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ส่วนคนไทยจะเป็นน้อยกว่านี้เล็กน้อย รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ อธิบายว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมมีอยู่หลายสาเหตุ เช่น ประวัติในครอบครัว ญาติพี่น้องใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า 1 คน มีเนื้อเยื่อเต้านมที่ผิดปกติ มี ประจำเดือนเมื่ออายุยังน้อย หมดประจำเดือนช้า อีกทั้งการเป็นคนโสดหรือไม่มีบุตรก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน โดยทั่วไปแล้ว มะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการผิดปกติ แต่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้จากการเอกซเรย์เต้านม และเมื่อคลำได้จะพบเป็นก้อนแข็งเล็ก ๆ ในระยะแรกและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ที่สุดจะแตกออกเป็นแผล เมื่อปล่อยทิ้งไว้ เชื้อมะเร็งจะกระจายสู่อวัยวะอื่น เช่น ปอดและกระดูก เป็นต้น ทั้งนี้ ก้อนที่พบในเต้านมส่วนใหญ่จะไม่ใช่มะเร็ง แต่โอกาสที่เป็นจะมีเพิ่มขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น นอกจากนี้ก้อนเนื้อมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บปวด จึงทำให้ ผู้ป่วยเข้าใจว่า เมื่อไม่เจ็บคงไม่ใช่มะเร็ง จึงไม่เร่งรักษา ทำให้โอกาสรักษาให้หายขาดมีน้อยลง ส่วนใหญ่แล้ว การรักษามะเร็งเต้านมทำได้โดยการผ่าตัด หรืออาจร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี และการให้ยาต้านฮอร์โมน ซึ่งถ้าเป็นในระยะแรกจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเพื่อให้ห่างไกลจากมะเร็งเต้านม คุณ ผู้หญิงควรหมั่นตรวจคลำทรวงอก ด้วยวิธีที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบสิ่งที่ผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที |