ออกอากาศ : วันที่ 5 เมษายน 2563  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคกระดูกพรุน
บทคัดย่อ:
        คนที่ร่างกายปกติ แต่พอนานวันเข้าความสูงของร่างกายกลับลดลงผิดปกติจนสังเกตได้ ลักษณะแบบ นี้เกิดจากโรคกระดูกพรุนหรือไม่ รศ.นพ.อาศิส อุนนะนันทน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด จะมาอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้
 
 
        โดยทั่วไปในผู้ป่วยที่มีความสูงลดลงอาจเกิดจากหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งที่สำคัญและพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ คือ เรื่องของกระดูกสันหลังหักยุบจากโรคกระดูกพรุน ซึ่งโรคกระดูกพรุนจะเป็นสาเหตุของการเกิดกระดูกหักได้หลายตำแหน่ง เช่น กระดูกข้อสะโพก กระดูกข้อมือ แต่พบว่าที่ตำแหน่งกระดูกสันหลังผู้ป่วยมากกว่า 50 % ที่มีภาวะนี้จะไม่มีอาการปวด ส่วนหนึ่งจะมาพบแพทย์ด้วยความสูงลดลงหรือมีลักษณะผิดปกติไป เช่น เกิดภาวะหลังค่อม โดยทั่วไปผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุจะสงสัยว่ามีภาวะกระดูกสันหลังหักยุบ ก็ต่อเมื่อมีลักษณะส่วนสูงลดลงประมาณ 2 ซม.ในระยะเวลา 1 ปี หรือลดลง 4 ซม.ตั้งแต่ในช่วงหนุ่มสาว ซึ่งหากมีลักษณะแบบนี้ควรต้องสงสัยและมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป
        ผู้ป่วยที่มีโรคกระดูกพรุนจะมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงได้หลายประการดังต่อไปนี้ 
        ในผู้สูงอายุผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปีหรือหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควรไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม เช่น ผู้ป่วยที่ถูกตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้างก่อนอายุ 45 ปี ในกรณีของผู้ชาย เราจะใช้เกณฑ์อายุประมาณ 70 ปีที่จะต้องส่งตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ การได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาเคมีบำบัด และได้รับการฉายรังสีรักษา โรคบางโรคก็เป็นสาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคของต่อมพาราไทรอยด์ โรคของต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ไม่ว่าจะทำงานมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ยังมีภาวะบางประการที่อาจสงสัยว่าเป็นสาเหตุการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะนอนติดเตียงเป็นระยะเวลานาน ผู้ป่วยที่มีโรคหรือภาวะบางประเภทที่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลเซียม ขาดวิตามินดี นอกจากนั้น การสูบบุหรี่ การดื่มกาแฟหรือชาเป็นปริมาณมากเกินไปก็เป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุน
        สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน 
        ลำดับแรก คือ ต้องหาปัจจัยเสี่ยงก่อน หากผู้ป่วยท่านนั้นมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนจากพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มชากาแฟในปริมาณที่มากเกินไป ก็ควรจะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงนั้น นอกจากนั้น แนะนำให้รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะและครบ 5 หมู่ โดยเน้นอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี นอกจากนี้ วิตามินดีอาจได้จากแสงแดด ฉะนั้นแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน อาจจะต้องออกกำลังกายในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลาสั้น ๆ การออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนจะเป็นการเดินธรรมดา การวิ่งเหยาะ ๆ และการรำไทเก๊ก หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงบางประการ เช่น รับประทานยาบางชนิดดังที่กล่าวไปแล้วนั้น อาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน โดยอาจจะทำการวัดมวลกระดูก และในกรณีที่พบว่าเกิดโรคกระดูกพรุนแล้วอาจจะต้องมีความจำเป็นในการรับประทานยารักษาโรคกระดูกพรุน

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช