ออกอากาศ : วันที่ 15 มีนาคม 2563  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ไทรอยด์เป็นพิษ
บทคัดย่อ:

        โรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นโรคที่คนส่วนใหญ่มักมองข้ามคิดว่าไม่เป็นไร แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นโรคที่ร้ายแรงและอันตรายมากถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ อ.พญ.สิรินาถ สิรินทร์วราวงศ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ จะมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้

        ไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากปฏิกิริยาร่างกายต่อต่อมไทรอยด์ของเราเอง กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานสร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าปกติ ทำให้มีปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายมากเกินความจำเป็น ซึ่งมีผลทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ในหลาย ๆ อวัยวะของร่างกาย เราเรียกภาวะที่ต่อมไทรอย์ทำงานมากผิดปกตินี้ว่าไทรอยด์เป็นพิษ

        ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไทรอยด์ จะสังเกตได้ว่าน้ำหนักลดผิดปกติ มือสั่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ บางรายอาจมีคอโต ตาโปน อาจมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ถ้าเป็นเพศหญิงจะทำให้มีประจำเดือนผิดปกติ บางรายอาจมีถ่ายเหลวบ่อยคล้ายท้องเสีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ในบางรายที่เป็นเรื้อรังจะเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย บางรายอาจทำให้แคลเซียมในเลือดสูงทำให้กระดูกอ่อนแอ กลายเป็นโรคกระดูกพรุน ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเกิดภาวะวิกฤตไทรอยด์ (thyroid storm) โดยผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วมากผิดปกติ มีไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย ตัวและตาจะเหลือง สับสนมึนงงอย่างรุนแรง มีภาวะขาดน้ำ และอาจช็อก ดังนั้นหากมีอาการที่สงสัยภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ควรรีบพบแพทย์ เพราะหากไทรอยด์เป็นพิษแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้

        ไทรอยด์เป็นพิษเป็นความผิดปกติของร่างกายไม่สามารถป้องกันได้ เพียงแต่ต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายเพื่อจะได้ดูแลตัวเอง หรือคนที่เคยรักษามาแล้วก็ควรติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้โรคไทรอยด์เป็นพิษกลับมาเป็นซ้ำ ส่วนการรักษาคือการกินยา เป็นยาที่มีฤทธิ์ ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาใหม่และยับยั้งการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนที่มีอยู่แล้ว อาการจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน หากกินยาดีขึ้นแล้วก็ไม่ควรหยุดยาทันทีเพราะโรคก็ยังเป็นอยู่ แพทย์จะเป็นผู้ตรวจเลือดให้เพื่อดูว่าอาการของโรคดีมากขึ้นเพียงใด เมื่ออาการดีขึ้นแพทย์จะค่อย ๆ ลดยาลงจนสามารถหยุดยาได้  หากลืมกินยาหรือยาหายควรไปพบแพทย์เพื่อรับยาใหม่เพราะหากหยุดยาเองจะทำให้เกิดอาการและควบคุมโรคยากขึ้น หากรักษาด้วยยาไม่หายจะรักษาด้วยการกลืนแร่ไอโอดีน หรือการผ่าตัดหรือขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ที่จะเลือกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช