ออกอากาศ : วันที่ 1 มีนาคม 2563  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: หินปูน อันตรายใกล้ตัว
บทคัดย่อ:

        ส่องกระจกดูพบว่า เริ่มจะมีคราบสีเหลืองปนดำตามร่องเหงือก อยากรู้ว่าถ้าปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นหินปูนหรือไม่  และจะหายเองหรือต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อกำจัดออก  ทพญ.กนกอร  ตันติพาณิชย์กูล งานทันตกรรม รพ.ศิริราช จะมาไขข้องข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้

        คราบหินปูนเกิดจากคราบจุลินทรีย์นิ่ม ๆ ที่สะสมรวมตัวกันบริเวณผิวฟันที่ติดกับขอบเหงือก เริ่มจากแผ่นบาง ๆ นิ่ม ๆ หลังจากนั้นพอสะสมกับแร่ธาตุในน้ำลาย แร่ธาตุในน้ำลายจะทำให้แผ่นพวกนี้แข็งขึ้น เราจะเรียกแผ่นแข็งนั้นว่า หินปูน หรือ หินน้ำลาย

        การกำจัดหินปูนจะต้องขูดออกโดยทันตแพทย์ ไม่แนะนำให้ทำเอง โดยทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือขูดหินปูนกระเทาะเอาตัวหินปูนออกจากผิวฟัน โดยไม่กระทบกับเนื้อฟันตามที่หลายคนเข้าใจกัน และหลังจากขูดหินปูนแล้วจะเห็นว่ามีเลือดออกบ้าง เหงือกที่เคยบวม แดง อักเสบ ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับถ้าเราแปรงฟันได้สะอาดและถูกวิธี

        ในบางกรณีอาจเป็นโรคที่มากกว่าการเป็นเหงือกอักเสบ นั่นคือ การเป็นปริทันต์อักเสบ พอขูดหินปูนไปจะพบฟันห่าง ฟันโยก หรือมีเหงือกร่นได้ เพราะกระดูกที่รองรับรากฟันค่อย ๆ ละลาย ดังนั้นปัญหาคราบหินปูนจึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ควรทำการขูดออกตามระยะเวลาที่กำหนด

        หลังจากขูดหินปูนออกไปแล้วก็จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ หากเราแปรงฟันไม่สะอาด แปรงฟันไม่ถูกวิธี หรือไม่ได้ใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย คราบจุลินทรีย์นิ่ม ๆ สะสมรวมตัวกับแร่ธาตุในน้ำลายก็จะสามารถกลับมาเกาะที่ผิวฟันใหม่ได้อีก และถึงตอนนั้นการแปรงฟันก็จะไม่สามารถแปรงออกได้ เนื่องจากเป็นหินปูนแล้ว ดังนั้นการป้องกันจึงดีกว่าการรักษา ซึ่งการป้องกันที่ดีคือ การแปรงฟัน ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แปรงเน้นย้ำบริเวณขอบเหงือกหรือเนื้อฟันที่อยู่บริเวณคอฟัน นอกจากนี้ควรใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วยอย่างน้อยวันละ 1 – 2 ครั้ง

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช