ออกอากาศ : วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ตาเทียมเฉพาะบุคคล
บทคัดย่อ:

        แว่นตากันแดดสีดำเข้มเป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้ป่วยที่สูญเสียดวงตาหรือมีตาฝ่อไป พวกเขาสวมใส่เพื่อปกปิดความผิดปกติของดวงตา แต่รู้หรือไม่ว่า การใส่ตาเทียมเฉพาะบุคคลเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่สูญเสียดวงตามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น   ตาเทียมเฉพาะบุคคลเป็นอย่างไร   อ.พญ.พิมพ์ขวัญ  จารุอำพรพรรณ ภาควิชาจักษุวิทยา จะมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้

        ตาเทียมเฉพาะบุคคล จัดทำขึ้นเพื่อที่จะใส่ให้กับผู้ป่วยที่สูญเสียดวงตา จากการผ่าตัดนำลูกตาออก หรือมีตาฝ่อ ซึ่งสาเหตุของการสูญเสียดวงตาที่พบบ่อย คือ อุบัติเหตุ การติดเชื้อหรือการอักเสบในลูกตา หรือมะเร็งในลูกตา ตาเทียมเฉพาะบุคคลที่ศูนย์บริการตาเทียม รพ. ศิริราชนั้นทำมาจากวัสดุอะคริลิก โดยเป็นการพิมพ์ชิ้นงานจากเบ้าตาของผู้ป่วยในแต่ละรายทำให้ตาเทียมมีผิวสัมผัสที่แนบสนิทกับเบ้าตาของผู้ป่วย ลดการสะสมของขี้ตา หลุดยาก และมีสีใกล้เคียงกับดวงตาอีกข้าง โดยจะมีการถ่ายรูปดวงตาผู้ป่วยเพื่อเปรียบเทียบสี ขนาด และตำแหน่งของตาดำอีกข้าง เพื่อทำให้การประดิษฐ์ตาเทียมเฉพาะบุคคลมีความแม่นยำและสวยงามใกล้เคียงกับตาอีกข้างหนึ่ง ซึ่งแม้ตาเทียมจะไม่ทำให้มองเห็น แต่ก็ลดผลกระทบทางด้านจิตใจได้มาก ผู้ป่วยเองสามารถทำงานและทำกิจกรรมโดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ

        ในกรณีที่ผู้ป่วยสูญเสียดวงตาข้างหนึ่งแต่ยังไม่ใส่ตาเทียม ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้ร่องตานั้นตื้นเขิน หรือเบ้าตาหดเพิ่มได้ และไม่สามารถใส่ตาเทียมได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับการประเมินจากจักษุแพทย์ในการตรวจประเมินเบ้าตาเพื่อจะได้รักษาได้ทันท่วงที ทั้งนี้อาจต้องดำเนินการผ่าตัดแก้ไขเบ้าตาหรือเปลือกตาก่อนถึงจะใส่ตาเทียมได้ 

        ผู้ป่วยสามารถใส่ตาเทียมได้ตลอดเวลารวมถึงตอนนอน ไม่ควรถอดล้างบ่อย ควรถอดล้างประมาณเดือนละครั้ง เพื่อลดโอกาสเปลือกตาหย่อนคล้อยและเบ้าตาหลวม สามารถใช้น้ำตาเทียมหยอดเพื่อหล่อลื่นได้ ไม่ควรใช้ยาขี้ผึ้งหยอดเบ้าตาเพราะจะทำให้ตาเทียมเป็นคราบและสูญเสียความเงางามได้ ถ้ามีอาการคันและแดงควรปรึกษาจักษุแพทย์ และควรมารับบริการขัดตาเทียมทุก 6 - 12 เดือน และในผู้ป่วยที่เหลือดวงตาเพียงดวงเดียวจะมีลานสายตาที่แคบลง รวมทั้งการกะระยะตื้นลึกที่ไม่เท่ากับผู้ที่มีดวงตาที่มองเห็นสองดวง ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุต่อดวงตาข้างที่ยังเหลืออยู่ได้ง่าย จึงควรสวมใส่แว่นที่มีเลนส์ชนิดพิเศษที่มีส่วนประกอบของโพลีคาร์บอเนตเพื่อปกป้องดวงตาตลอดเวลาขณะตื่น หากแตกก็จะไม่อันตรายเหมือนเลนส์ทั่วไป

        อย่างน้อยการใส่ตาเทียมทำให้ผู้ป่วยมีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับการมีดวงตาปกติได้ ยังผลให้ผู้ป่วยรู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้น กล้าที่จะเข้าสังคมมากขึ้น หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้เหมือนคนปกติทั่วไปได้อย่างมีความสุข

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช