ออกอากาศ : วันที่ 12 มกราคม 2563  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: เด็กก้าวร้าว ทำอย่างไรดี
บทคัดย่อ:
        วันเด็กพึ่งจะผ่านไป เด็ก ๆ สนุกสนานเพราะพ่อแม่ตามใจ แล้วถ้าวันต่อ ๆ ไป หากลูกเริ่มมีอารมณ์ฉุนเฉียว เขวี้ยงปา ทำลายของ คุณพ่อคุณแม่จะรับมือกับพฤติกรรมลูกก้าวร้าวได้อย่างไร อ.พญ.พัฏ โรจน์มหามงคล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็กจะมาบอกวิธีรับมือเกี่ยวกับเรื่องนี้ 
 
 
        พฤติกรรมก้าวร้าว หมายถึง การทำให้ผู้อื่นได้รับความเจ็บปวด หรือทำให้สิ่งของเสียหาย เช่น การตี กัด เตะ ขว้างของ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในเด็กช่วงวัยเตาะแตะ  โดยมีปัจจัยจากพัฒนาการที่เด็กวัยนี้มักจะนึกถึงตนเองเป็นศูนย์กลาง  หุนหันพลันแล่น และขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ อีกทั้งทักษะการสื่อสารยังไม่ดีนัก เมื่อโกรธจึงระบายอารมณ์ด้วยการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่ผู้เลี้ยงดูมีความเครียด แบบอย่างของการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือสื่อต่าง ๆ รวมถึงการตอบสนองต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กก็มีผลต่อการคงอยู่ของพฤติกรรม โดยหากเด็กถูกตามใจ หรือทำโทษอย่างรุนแรง จะยิ่งทำให้พฤติกรรมนี้คงอยู่นานขึ้น  
        การป้องกันไม่ให้เด็กเกิดอารมณ์โกรธจนแสดงความก้าวร้าวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เช่น การสังเกตและพยายามคาดเดาความต้องการของเด็ก ร่วมกับให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพื่อลดโอกาสการเกิดความหงุดหงิดและพฤติกรรมก้าวร้าว แต่ถ้าลูกเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเด็ก ทรัพย์สิน และผู้คนรอบข้าง ถ้าเขากำลังจะขว้างของ ให้รีบนำของที่จะขว้างออกจากมือ ถ้าเขาจะตีคนอื่นต้องจับให้เด็กหยุดตี ร่วมกับพูดบอกอารมณ์ของเด็กด้วยน้ำเสียงหนักแน่นแต่มั่นคง เช่น บอกว่า แม่รู้ว่าลูกโกรธ แต่ตีแม่ไม่ได้ เพราะแม่เจ็บ ร่วมกับรวบตัวเขาไว้จนเขาสงบลง ทั้งนี้เมื่อเขามีพฤติกรรมที่ดี เช่น เวลาโกรธแล้วไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว หรือยอมสงบลงเมื่อคุณพ่อคุณแม่จับให้หยุด ควรชมเขาด้วย นอกจากนี้ควรฝึกให้เด็กจัดการกับอารมณ์โกรธอย่างเหมาะสมด้วยตนเอง เช่น สอนให้เด็กบอกความต้องการ สื่ออารมณ์เป็นคำพูด คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการตีเพื่อเป็นแบบอย่างของการจัดการความขัดแย้งโดยไม่ใช้กำลัง
        ถ้าพฤติกรรมก้าวร้าวได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี  พฤติกรรมนี้มักจะลดลงมากเมื่อเด็กอายุประมาณ 
4 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เด็กมีพัฒนาการด้านเชาว์ปัญญาและวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดีขึ้น ส่งผลให้เด็กมีทักษะในการแก้ปัญหาเมื่อเกิดความขัดแย้งหรือความคับข้องใจและควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช