ออกอากาศ : วันที่ 29 ตุลาคม 2549  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: เท้าปุกในเด็ก
บทคัดย่อ:

          แม้โรคเท้าปุกในเด็ก จะพบได้ในอัตรา 1 ใน 1000 ของเด็กแรกคลอด  แต่เมื่อพบว่า ลูกน้อยเป็นโรคเท้าปุก ก็มักสร้างความวิตกกังวลแก่พ่อแม่ไม่น้อย รศ.นพ.กมลพร  แก้วพรสวรรค์  ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด อธิบายว่า เท้าปุก เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเท้าที่เป็นมาแต่กำเนิดประเภทหนึ่ง โดยมีลักษณะผิดรูปไปจากเดิม  ซึ่งข้อเท้าอาจเขย่งปลายเท้าลงล่าง บิดเข้าในและฝ่าเท้าหงายขึ้น  โรคเท้าปุก อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ พบพอ ๆ กัน วินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกาย มีสาเหตุหลายอย่าง สำหรับสาเหตุของโรคเท้าปุกนั้น  ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีองค์ประกอบจากหลาย ๆ สาเหตุ   ได้แก่ สิ่งแวดล้อมในครรภ์มารดาซึ่งมีผลต่อลักษณะของเท้าในขณะที่อยู่ในมดลูก มีประวัติว่าเครือญาติเป็นโรคเท้าปุก เกิดจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของข้อและเท้าไม่สมดุลกัน หรืออาจเกิดจากกระดูกเท้าถูกสร้างมาผิดรูป

          ทั้งนี้ การรักษาเด็กทารกที่เป็นโรคเท้าปุก สามารถรักษาให้ดีขึ้นจนเดินได้ดีมากจนดูเกือบปกติ แต่เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี จะต้องทำการรักษาตั้งแต่แรกคลอด โดยการดัดเท้าให้กลับคืนสู่รูปร่างปกติและควบคุมด้วยเฝือก ทำการดัดและเปลี่ยนเฝือก ทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ จนได้เท้าที่มีรูปร่างดีขึ้น ถ้าไม่หายอาจมีการผ่าตัด ถ้าดัดดึงจนหายดี  ระยะนี้แพทย์จะให้ใส่รองเท้าพิเศษจนถึงอายุ 5-7 ขวบ  การผ่าตัดควรพิจารณาในกลุ่มที่เป็น เท้าแข็งมากจนดัดไม่หาย ควรทำเมื่ออายุ 4-5 เดือนขึ้นไป และผ่าตัดยืดเอ็นที่ตึงเท่านั้น  นอกจากศัลยแพทย์ออร์โธปิดิคส์ที่มีความเชี่ยวชาญ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคเท้าปุกหายเป็นปกติ  มีเท้าที่สามารถเดินได้เช่นคนทั่วไป คือ การที่พ่อแม่จะต้องมีความอดทนอย่างสูงในการพาลูกไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่องและได้ผล

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช