ออกอากาศ : วันที่ 22 ตุลาคม 2549  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ตาเหล่รักษาได้
บทคัดย่อ:           โรคตาเหล่สำหรับคนทั่วไปอาจคิดว่าเป็นโรคที่รักษายากแต่แท้จริงแล้วมีวิธีรักษาโรคตาเหล่อยู่หลายวิธี รศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล  ภาควิชาจักษุวิทยา อธิบายว่า โรคตาเหล่เป็นภาวะที่ตาสองข้างไม่อยู่ในแนวแกนเดียวกัน เป็นผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถมองวัตถุเดียวกันพร้อมกันด้วยตาทั้งสองข้างได้ ผู้ป่วยจะใช้ข้างที่ปกติจ้องวัตถุส่วน ข้างที่เหล่อาจเบนเข้าด้านในหรือด้านนอก ขึ้นบนหรือลงล่าง ผู้ป่วยบางรายอาจมีตาเหล่สลับ คือบางครั้งตาขวาเหล่ บางครั้งตาซ้ายเหล่ในบางรายอาจตาเหล่ตลอดเวลาหรือเป็นครั้งคราวก็มี
          เมื่อเริ่มเป็นโรคนี้ สำหรับเด็กอาจแสดงอาการหยีตา โดยเฉพาะเวลาที่อยู่ในแสงจ้า ผู้ป่วยตาเหล่บางประเภทอาจมีอาการปวดศีรษะเวลาใช้สายตามองใกล้เป็นเวลานาน เนื่องจากมีการเกร็งกล้ามเนื้อลูกตาเพื่อแก้ไขภาวะตาเหล่  โรคตาเหล่ในเด็กมักไม่ทราบสาเหตุ และมากกว่าครึ่งหนึ่งตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 6 เดือน และอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ สำหรับโรคตาเหล่ในผู้ใหญ่อาจเกิดจากอุบัติเหตุทางตาและทางสมอง หรือเกิดจากโรคเบาหวานที่ทำให้มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงลูกตาลดลง เป็นผลให้กล้ามเนื้อลูกตาเป็นอัมพาตและตาเหล่ตามมา
          ผู้ป่วยตาเหล่ทุกรายควรได้รับการตรวจตาโดยละเอียด และรับการรักษาโรคภายในลูกตาที่อาจเป็นสาเหตุของตาเหล่ เช่นโรคมะเร็งจอตาในเด็ก โรคต้อกระจก เป็นต้น สำหรับการรักษาตาเหล่ในผู้ป่วยเด็ก ประกอบด้วย การรักษาสายตาขี้เกียจ (Amblyopia) โดยปิดตาข้างที่สายตาดี เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยใช้ตาข้างที่มองไม่ชัดบ่อยขึ้น นอกจากนี้การใช้แว่นสายตา หรือฝึกกล้ามเนื้อลูกตาอาจช่วยรักษาตาเหล่บางประเภทได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคตาเหล่ส่วนใหญ่ มักต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดกล้ามเนื้อลูกตา

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช