ออกอากาศ : วันที่ 8 กันยายน 2562  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ตาบอดสี
บทคัดย่อ:

        หลายคนที่ประสบปัญหาเรื่องตาบอดสี และมักมีปัญหาต่อการสมัครเข้าเรียน หรือการทำงานหลายอาชีพด้วยกัน จึงอยากทราบว่าตาบอดสีสาเหตุเกิดจากอะไร รักษาได้หรือไม่ รศ.พญ.อติพร ตวงทอง ภาควิชาจักษุวิทยา จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

        การมองเห็นสีจะเกิดจากแสงสีขาวที่มีส่วนประกอบของคลื่นแสงสีต่าง ๆ เมื่อแสงสีขาวผ่านเข้าในตาของเรา ที่จอตาจะมีโคนเซลล์เป็นเซลล์รับแสง โคนเซลล์จะมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ สีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียว การกระตุ้นโคนเซลล์เหล่านี้จะทำให้เรามองเห็นสี ถ้าคนที่มีความผิดปกติของโคนเซลล์ หรือเม็ดสีในโคนเซลล์ก็จะทำให้มีการเห็นสีที่ผิดปกติไป ที่เราเรียกว่า “ภาวะตาบอดสี”  

        สาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งพบเป็นมาแต่กำเนิด พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง หรืออาจจะเป็นภายหลังได้เช่นกันจากโรคของจอตา เส้นประสาทตา หรือจากการได้รับยาบางอย่าง

        ภาวะตาบอดสีจะแบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 

        1. ระดับน้อย เกิดจากการที่มีเม็ดสีในโคนเชลล์ผิดปกติ คนไข้จะเห็นสีมีความสดน้อยกว่าปกติ เช่น  ถ้ามีเม็ดสีแดงผิดปกติคนไข้ก็จะเห็นสีแดงสดน้อยกว่าปกติ  การแยกสีระหว่างสีเขียว สีเหลือง สีส้ม ที่มีเฉดคล้าย ๆ กันจะแยกได้ยาก หรือสีม่วงที่มีส่วนผสมของสีแดงและสีน้ำเงิน คนไข้ก็จะเห็นค่อนไปทางสีน้ำเงิน 

        2. ระดับปานกลาง คือ การที่โคนเซลล์หายไปตัวใดตัวหนึ่ง คนไข้จะมองเห็นสีนั้นเป็นสีดำหรือ

สีเทา เช่น ถ้าโคนเซลล์สีแดงหายไป คนไข้ก็จะมองเห็นสีแดงเป็นสีเทา ส่วนสีม่วงที่มีส่วนผสมของสีแดงและสีน้ำเงิน คนไข้ก็จะมองเห็นเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งจะทำให้แยกยากระหว่างสีม่วงกับสีน้ำเงิน 

        3. ระดับที่รุนแรง คือ คนไข้ไม่มีโคนเซลล์ทั้ง 3 ชนิด จะไม่มีการมองเห็นสี ในกลุ่มนี้คนไข้จะมีระดับสายตาที่ลดลงกว่าปกติและมีตาสั่นร่วมด้วย ซึ่งระดับสายตาที่ลดลงและมีตาสั่นจะไม่พบในคนไข้ที่มีภาวะตาบอดสีในระดับน้อยและระดับปานกลาง

        สำหรับภาวะตาบอดสีที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด สำหรับเครื่องมือที่ใช้ช่วยคนไข้ที่มีภาวะตาบอดสี เช่น การใช้แว่นที่มีการย้อมสีข้างใดข้างหนึ่ง หรือการใช้คอนแทคเลนส์สำหรับคนไข้ตาบอดสีเป็นวิธีการที่จะช่วยทำให้คนไข้รับรู้ถึงสีนั้นได้เข้มขึ้นแต่ไม่ใช่วิธีการรักษาให้หายขาด ถึงแม้ว่าภาวะตาบอดสียังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่คนไข้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ สำหรับภาวะตาบอดสีที่เป็นมาภายหลังที่เกิดจากโรคของจอตา เส้นประสาทตา หรือการใช้ยาบางอย่างก็ต้องรักษาสาเหตุของโรคที่เป็นร่วม

        เนื่องจากคนไข้ที่มีภาวะตาบอดสีสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะตาบอดสี ดังนั้นแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองภาวะตาบอดสีในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าในครอบครัวมีประวัติมีภาวะตาบอดสี ถ้าตรวจพบว่ามีภาวะตาบอดสี คนไข้ก็จะสามารถเพิ่มความระมัดระวังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยการแยกแยะของสี มีการวางแผนการเรียนและการประกอบอาชีพในอนาคต

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช