ออกอากาศ : วันที่ 4 สิงหาคม 2562  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: มารู้จัก...โรควัณโรคหลังโพรงจมูก
บทคัดย่อ:
        จากกรณีการเกิดโรควัณโรคหลังโพรงจมูก ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกะทันหันถึงขั้นเสียชีวิตในเวลารวดเร็วนั้น ทำให้ผู้คนมีการตื่นตัวกันมาก และสงสัยถึงสาเหตุว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ จะมาอธิบายเกี่ยวกับโรคนี้
 
 
        โรควัณโรคแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดด้วยกัน ชนิดที่หนึ่ง เรียกว่า โรควัณโรคปอด ซึ่งเราพบประมาณร้อยละ 80 – 85 ส่วนประมาณร้อยละ 15 – 20 นั้นเราเรียกว่า โรควัณโรคนอกปอด พบได้ในอวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกาย 
        สำหรับโรควัณโรคหลังโพรงจมูกจัดเป็นโรควัณโรคนอกปอดชนิดหนึ่ง ซึ่งพบได้น้อยมาก จากสถิติของโรงพยาบาลศิริราชพบโรควัณโรคหลังโพรงจมูกประมาณไม่เกินร้อยละ 0.1 ของผู้ป่วยโรควัณโรคทั้งหมด
        ผู้ป่วยโรควัณโรคหลังโพรงจมูกส่วนใหญ่จะมาด้วยการคลำก้อนได้ที่คอซึ่งเกิดจากต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ที่เหลือจะมาด้วยที่จะมีอาการระคายคอ เจ็บแน่นในคอ หรือรู้สึกจุกแน่นในคอร่วมกับอาจจะมีอาการมีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งเป็นส่วนน้อย
        เมื่อแพทย์สงสัยว่าท่านจะมีวัณโรคหลังโพรงจมูกจะปรึกษาให้แพทย์ทางด้านหู คอ จมูกทำการส่องกล้องดูคอหอยด้านหลังจมูกของท่าน ซึ่งถ้าพบความผิดปกติแพทย์จะทำการตัดชื้นเนื้อตรวจ หรือแพทย์จะทำการตรวจจากต่อมน้ำเหลืองที่คลำได้บริเวณคอ การวินิฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูกนั้นต้องอาศัยการตรวจเนื้อเยื่อทางพยาธิวิทยา หรือนำเนื้อเยื่อนั้นไปตรวจทางจุลชีววิทยาเพื่อหาร่องรอยของการติดเชื้อวัณโรค
        เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรควัณโรคหลังโพรงจมูก แพทย์จะเริ่มให้การรักษา โดยให้การรักษาเช่นเดียวกับโรควัณโรคอื่น ๆ ทั่วร่างกาย คือ การรักษาด้วยยาต้านวัณโรค โดยระยะเวลาการรักษาทั้งหมดเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกนั้นเป็นช่วงที่สำคัญ เนื่องจากจะต้องให้ยาต้านวัณโรคทั้งหมด 4 ชนิดเป็นเวลานาน 2 เดือนหลังจากนั้นแล้ว แพทย์จะลดยาต้านวัณโรคลงเหลือ 2 ชนิดและรับประทานต่ออีก 4 เดือนรวมทั้งหมด 6 เดือนจะหายขาด
        การป้องกันโรควัณโรคก็เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ คือ ต้องรักษาสุขภาพร่างกายของเราให้แข็งแรง เพื่อลดโอกาสที่จะเป็นโรควัณโรคได้ง่าย และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด ระบบถ่ายเทอากาศไม่ดี แสงสว่างไม่เพียงพอ เนื่องจากในสถานที่เช่นนั้น ถ้ามีคนเป็นโรควัณโรค เราจะได้รับเชื้อได้ง่าย นอกจากนั้นถ้าท่านพบว่าเป็นโรควัณโรคปอด หรือโรควัณโรคนอกปอดแล้ว จำเป็นต้องรักษาให้สม่ำเสมอจนครบ เพื่อให้หายขาด สำหรับผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ที่เป็นโรควัณโรคจะต้องให้กำลังใจและช่วยดูแลรักษาให้ผู้ที่เป็นโรควัณโรครักษาจนครบ ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อได้            

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช