ออกอากาศ : วันที่ 9 มิถุนายน 2562  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: มารู้จัก...เชื้ออีโคไล
บทคัดย่อ:
        หลายคนที่สงสัยเรื่องเชื้ออีโคไล ว่าหากเราได้รับเชื้อนี้เข้าไปจะเกิดอันตรายได้หรือไม่ แล้วเชื้อนี้จะเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร ผศ.ดร.นพ.ไอยฤทธิ์ ไทยพิสุทธิกุล ภาควิชาจุลชีววิทยา มาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้

        เชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรือที่มักเรียกแบบย่อว่า อีโคไล เป็นแบคทีเรียที่พบได้เป็นปกติในลำไส้ของคนและสัตว์บางชนิด โดยปกติจะไม่ก่อโรคและยังมีประโยชน์บางอย่างต่อร่างกายด้วย แต่ก็มีบางกรณีที่เชื้ออีโคไลสามารถก่อโรคได้ โดยโรคที่พบบ่อยในมนุษย์ ได้แก่ โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและโรคท้องเดิน

        สำหรับโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะมักพบในผู้หญิง โดยได้รับเชื้ออีโคไลจากทางเดินอาหารที่ปน เปื้อนอยู่บริเวณปากท่อปัสสาวะ 

        สำหรับโรคท้องเดิน ได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยปกติสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคท้องเดินส่วนใหญ่นั้นจะก่อโรคไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ แต่ก็มีบางสายพันธุ์ส่วนน้อยที่สามารถทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน ถ่ายอุจจาระมากจนเกิดภาวะขาดน้ำหรือไตวายได้

        อาการของคนที่ติดเชื้ออีโคไล แบ่งออกเป็น

        สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย มีความรู้สึกเหมือนปัสสาวะไม่สุด ในบางครั้งอาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย ในบางรายอาจมีอาการรุนแรง ได้แก่ มีไข้สูงหนาวสั่น ปวดหลังหรือสีข้างระดับเอว ซึ่งบ่งถึงการติดเชื้อที่กรวยไต

        ส่วนโรคท้องเดินนั้น เชื้อสายพันธุ์ก่อโรคที่พบบ่อยนั้นจะทำให้เกิดอาการท้องเดิน ซึ่งหลาย ๆ คนอาจเคยมีอาการแบบนี้มาแล้ว ได้แก่ ท้องเดิน ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้หรืออาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำ โดยจะมีอาการอยู่ประมาณ 3 - 7 วัน ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เอง แต่หากมีอาการรุนแรงเช่น ถ่ายเป็นปริมาณมาก ถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดท้องมาก มีไข้สูง ให้รีบพบแพทย์เพราะอาจติดเชื้อสายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรง และอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์

        สำหรับผู้ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจะต้องมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ในบางรายเชื้อสามารถลุกลามไปตามทางเดินปัสสาวะ จากกระเพาะปัสสาวะขึ้นไปถึงไตทำให้มีการติดเชื้อที่กรวยไตซึ่งอาจทำให้มีการลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดตามมาได้

        ส่วนผู้ป่วยโรคท้องเดินนั้นส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการ เช่น ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดท้องก็จะให้ยาแก้ปวดท้องและมีการทดแทนสารน้ำที่เสียไปจากการท้องเดินหรืออาเจียน โดยการรับประทานผงเกลือแร่ ยาปฏิชีวนะไม่มีความจำเป็น แต่ในส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ท้องเสียหรืออาเจียนมากจนเกิดภาวะขาดน้ำ ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด ควรพบแพทย์และเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องในโรงพยาบาลต่อไป แต่ก็มีเชื้อบางสายพันธุ์สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและมีภาวะไตวายได้แต่ก็พบไม่บ่อย

        การหลีกเลี่ยงการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในสตรีที่สำคัญที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการอั้นปัสสาวะ เพราะการปัสสาวะสม่ำเสมอที่เป็นปกติจะเป็นการขับเชื้อออกจากท่อปัสสาวะ และควรรักษาความสะอาดบริเวณปากท่อปัสสาวะ เช่น หลังถ่ายอุจจาระเวลาทำความสะอาดควรเช็ดจากด้านหน้าไปหลังเพื่อหลีกเลี่ยงการนำเชื้อจากทวารหนักไปปนเปื้อนบริเวณปากท่อปัสสาวะได้

        สำหรับโรคท้องเดินมีวิธีการป้องกันง่าย ๆ คือ การรักษาสุขอนามัยในการรับประทานอาหารทั่วไป เช่น ล้างมือก่อนปรุงหรือรับประทานอาหารทุกครั้ง รับประทานอาหารที่ปรุงสุก 

        โดยสรุปแล้วการติดเชื้ออีโคไลไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเป็นเชื้อที่พบเป็นปกติทุกคนอยู่แล้ว ก่อโรคที่ไม่รุนแรง ดังนั้นไม่ควรจะตื่นตระหนกกับการติดเชื้ออีโคไล

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช