ออกอากาศ : วันที่ 2 มิถุนายน 2562  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคพาร์กินสัน
บทคัดย่อ:

        ท่านเคยสังเกตผู้สูงอายุในบ้านท่านบ้างไหม ถ้ามีอาการมือสั่น ๆ ทำอะไรช้าลง อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติในผู้สูงอายุ อาจเป็นอาการของคนที่เป็นโรคพาร์กินสัน ซึ่งโรคนี้หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างลำบาก ผศ.นพ.ปรัชญา ศรีวานิชภูมิ ภาควิชาอายุรศาสตร์ จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้

        โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง ทำให้การผลิตสารบางอย่างที่ชื่อว่า โดพามีนลดลง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหว โดยร่างกายจะเคลื่อนไหวได้ช้า 

        ส่วนสาเหตุทำให้เกิดโรคพาร์กินสันที่ทำให้โดพามีนลดลงเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าคืออะไร และในปัจุบันยังไม่แน่ชัดว่าปัจจัยใดที่เป็นปัจจัยเดียวที่กระตุ้นให้เกิดโรคพาร์กินสัน แต่ปัจจุบันมีการศึกษาและค้นพบว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคพาร์กินสัน ได้แก่ ผู้ป่วยบางรายมีประวัติสัมผัสยาฆ่าแมลง มีประวัติใช้สารเสพติดบางชนิด หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคพาร์กินสันก็จะเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งในปัจจุบันพบได้ถึง 10 – 15 %

         อาการของโรคพาร์กินสัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอาการหลัก ๆ ได้แก่

        1. อาการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เป็นที่รู้จักกันดีมี 4 อาการหลัก ๆ คือ อาการที่หนึ่ง คือ อาการมือสั่น โดยเป็นลักษณะมือสั่นในขณะพัก แต่ว่าเวลาขยับเคลื่อนไหวอาการมือสั่นจะหายไป อาการที่สอง คือ อาการฝืด หนืด เกร็งของกล้ามเนื้อ อาการที่สาม คือ การเคลื่อนไหวช้า และอาการที่สี่ คือ การทรงตัวและการเดินที่ผิดปกติ จะเป็นลักษณะที่เดินซอยเท้าถี่ ๆ ศีรษะจะพุ่งไปข้างหน้า นอกจากนั้นอาจจะมาด้วยอาการอื่น ๆ ได้อีก เช่น เขียนหนังสือตัวเล็กลง ใบหน้าแสดงสีหน้าออกได้น้อย ยิ้มน้อย ไม่ค่อยแสดงออกทางสีหน้า

        2. อาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เช่น ท้องผูก จมูกดมไม่ค่อยได้กลิ่นหรือได้กลิ่นลดลงจากปกติ ตอนกลางคืนนอนมีการละเมอชกต่อยเตะถีบออกท่าทาง

        ในการวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน ปัจจุบันเราใช้เกณฑ์การวินิจฉัย โดยขั้นตอนแรกจะดูว่าผู้ป่วยมีอาการคล้ายคลึงกับอาการที่กล่าวมาข้างต้นหรือไม่ หลังจากนั้นซักถามประวัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุที่อาจจะมีอาการคล้ายคลึงกับโรคพาร์กินสัน เช่น มีประวัติได้รับยาต้านอาการทางจิตเวช ได้รับยาแก้อาเจียนคลื่นไส้เวียนศีรษะ มีประวัติเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตมาก่อน มีประวัติเป็นเนื้องอกสมอง หรือมีอาการโพรงสมองบวมน้ำ จากนั้นขั้นตอนสุดท้ายจะหาข้อสนับสนุนในการเป็นโรคพาร์กินสัน เช่น มีอาการข้างหนึ่งนำมาก่อนอีกข้างหนึ่ง และมีลักษณะอาการดำเนินโรคไปอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป

        ส่วนการรักษา ในปัจจุบันเรายังแนะนำให้เริ่มต้นใช้ยาในการรักษา โดยเป้าหมายในการใช้ยา คือ เพิ่มสารโดพามีนในร่างกาย โดยลักษณะรูปแบบในการใช้ยา ปัจจุบันมีทั้งรูปแบบการรับประทานและการใช้แผ่นแปะเพื่อในผู้ป่วยสะดวกในการบริหารยามากขึ้น โดยเป้าหมายหลักจริง ๆ ในการใช้ยาคือต้องการให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติก่อนที่กลายเป็นผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

        สำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน นอกเหนือจากการใช้ยา ในปัจจุบันแนะนำส่งเสริมให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย โดยตัวอย่างการออกกำลังกายที่ได้ประโยชน์ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ได้แก่ การรำมวยจีน การรำไทเก๊ก และการเต้นรำในจังหวะแทงโก้ แต่ถ้าเกิดในผู้ที่ไม่สามารถทำได้แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างง่าย ๆ เช่น การเดินรอบสนาม การปั่นจักรยาน หรือออกกำลังกายอยู่ในบ้าน

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช