ออกอากาศ : วันที่ 18 พฤศจิกายน 2561  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก
บทคัดย่อ:
        เวลาลูกน้อยมีอาการไม่อยากเดิน บ่นว่าปวดข้อ เดินกะเผลก หยิบจับอะไรก็ไม่ถนัด โดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน ให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตดูว่าอาการเหล่านี้จะเป็นสัญญาณเตือนของโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กได้หรือไม่ ผศ.พญ.ศิริรัตน์ จารุวณิช ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จะพาไปทำความเข้าใจกับโรคนี้
 
 
        โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กอายุน้อยกว่า 16 ปี พบโรคนี้ได้ประมาณ 1 รายต่อเด็ก 1,000 คน ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่อาจเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น การติดเชื้อ ทำให้เกิดความผิดปกติทางภูมิ คุ้มกันทำลายข้อตนเอง ทำให้เกิดข้ออักเสบ โดยข้ออักเสบจะเกิดขึ้นเรื้อรังเป็นระยะเวลานานกว่า 6 สัปดาห์
 
        ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก จะมีอาการของข้ออักเสบ ได้แก่ ปวดข้อ ข้อฝืดตึง ขยับลำบาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช้า ๆ หลังตื่นนอน หรือเวลาที่ไม่ได้ขยับข้อนาน ๆ บางรายอาจมีอาการข้อบวม เดินกะเผลก กำมือ หยิบจับ ใช้งานข้อไม่ถนัด นอกจากนั้นโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุบางชนิดนอกจากข้ออักเสบแล้ว จะมีอาการของการอักเสบอย่างรุนแรงของร่างกาย ได้แก่ ไข้สูงเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์ มีผื่นสีชมพูอมส้มคล้ายสีปลาแซลมอนขึ้นตามตัวเวลาไข้สูง ตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโต ตับม้ามโต และเยื่อบุอวัยวะภายในอักเสบร่วมด้วย
 
        การวินิจฉัยโรคนี้จะอาศัยอาการและการตรวจร่างกายที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีข้ออักเสบที่เป็นอย่างเรื้อรังระยะนานกว่า 6 สัปดาห์ ในเด็กอายุน้อยกว่า 16 ปี และตัดสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้ข้ออักเสบออกไป เช่น ข้อติดเชื้อ โรคมะเร็ง หรือโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตนเองชนิดอื่น ๆ
 
        การรักษาจะใช้ยาเพื่อลดการอักเสบและยากลุ่มช่วยปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคข้อ ในผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการฉีดยาเพื่อลดการอักเสบในข้อ นอกจากนั้นผู้ป่วยควรได้รับการทำกายภาพ บำบัดและตรวจตาเพื่อคัดกรองภาวะม่านตาอักเสบเป็นระยะ
 
        เพื่อให้การรักษาเป็นไปได้ด้วยดี การดูแลผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ดูแลควรพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ตามนัดและกินยาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การว่ายน้ำ การขี่จักรยาน จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อ และป้องกันการเกิดข้อติด หากมีอาการกำเริบผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์ก่อนนัด

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช