ออกอากาศ : วันที่ 21 ตุลาคม 2561  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคฉี่หนู
บทคัดย่อ:

        ผู้ที่ป่วยเป็นโรคฉี่หนูที่รุนแรงอาจเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแล้วไม่เข้าใจอาการของโรค กว่าจะมารักษาอาจสายเกินไป ศ.พญ.ยุพิน ศุพุทธมงคล ภาควิชาอายุรศาสตร์ จะพาไปรู้จักว่าโรคฉี่หนูเกิดได้อย่างไร และจะสังเกตอาการได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้ 

        โรคฉี่หนู หรือเรียกอีกอย่างว่า โรคเลปโตสไปโรซิส เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งติดต่อจากสัตว์สู่คนชนิดหนึ่ง เชื้อก่อโรคจะปนออกมากับฉี่ของสัตว์ต่าง ๆ ที่เป็นพาหะ โดยหนูจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญที่สุด จึงเรียกว่า โรคฉี่หนู แต่อย่างไรก็ตามสัตว์อื่น ๆ อย่างเช่น สุนัข วัว ควาย ก็สามารถมีเชื้อและแพร่เชื้อมาสู่คนได้เช่นเดียวกัน โดยเชื้อจะถูกขับออกมากับฉี่ของสัตว์เหล่านี้มาอยู่ในที่ที่มีฝนตก น้ำท่วมขัง หรือตามสวนไร่นาที่มีน้ำขัง และเชื้อก็จะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้นานเป็นเดือน เมื่อคนย่ำน้ำที่มีเชื้อฉี่หนูอยู่ เชื้อก็จะไชเข้าสู่ผิวหนังและทำให้คนป่วยได้

        โรคฉี่หนูจะแสดงอาการภายในเวลาประมาณ 10 วันโดยเฉลี่ยหลังได้รับเชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่ถ้ามีอาการจะมีอาการที่ไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัดใหญ่หรือไข้เลือดออก เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อต่าง ๆ ตาแดง ไม่อยากอาหาร ท้องเสีย ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่ไม่รุนแรงและมักหายเองได้ภายในเวลา 5 - 7 วัน แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งซึ่งจะเกิดอาการแทรกซ้อนส่งผลกระทบถึงอวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง หัวใจ ตับ ไต หรือปอด ทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้ เช่น ดีซ่าน เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หายใจหอบเหนื่อย หัวใจเต้นผิดจังหวะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบทำให้ปวดศีรษะมาก ชัก ปัสสาวะน้อยจากไตวายได้ เป็นต้น

        ฉะนั้นถ้าท่านมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อต่าง ๆ มาก โดยเฉพาะบริเวณน่อง และเป็นอาการป่วยหลังจากการย่ำน้ำท่วมขังมาไม่เกินสองสัปดาห์ ท่านควรรีบมาพบแพทย์เพื่อจะได้วินิจฉัยและรักษาโรคฉี่หนูอย่างทันท่วงที

        โรคนี้แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการเป็นหลัก ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงอาจจะยากตรงที่อาการเหมือนไข้หวัดใหญ่หรือไข้เลือดออกดังที่กล่าวไปแล้ว แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาการจะชัดเจนกว่า ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติผู้ป่วย การตรวจเลือด เอกซเรย์ เพื่อประเมินการทำงานของตับ ไต ปอด

        ส่วนการรักษา ถ้าผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะนาน 7 วันเพื่อให้หายขาด ส่วนสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรักษาด้วยยาปฏิชีวนะฉีดเข้าหลอดเลือดดำก่อนในระยะแรกและรักษาอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามสมควร เช่น อาจจะต้องฟอกไต ถ้ามีภาวะไตวายเกิดขึ้น เป็นต้น ผู้ป่วยมักจะอาการดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช