ออกอากาศ : วันที่ 14 ตุลาคม 2561  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคไซนัสอักเสบ
บทคัดย่อ:
        มีผู้ป่วยสงสัยว่าเวลาเป็นไข้หวัด มีโอกาสเป็นโรคไซนัสอักเสบได้หรือไม่ อ.นพ.เจตน์ ลำยองเสถียร ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา ช่วยให้รายละเอียดเกี่ยวกับโรคไซนัสอักเสบเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง  
 
 
        โรคไซนัสอักเสบ คือ เยื่อบุไซนัสหรือโพรงอากาศข้างจมูกเกิดการอักเสบ 
        โรคไซนัสอักเสบ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่  
        1. โรคไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ
        2. โรคไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง ส่วนใหญ่เกิดจากการอักเสบ
       
        อาการของโรคไซนัสอักเสบ คือ น้ำมูกข้น คัดจมูก ปวดตึงบริเวณใบหน้าและมีความสามารถในการรับกลิ่นลดลง อาการคล้ายคลึงกันทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง เพียงแต่แบบเฉียบพลันจะมีอาการชัดเจนกว่าในที่นี่จะขอเน้นเฉพาะโรคไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน 
 
        ส่วนใหญ่โรคไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันมักจะเริ่มจากการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนต้นเหมือนกับการเป็นหวัดทั่วไป ซึ่งมักจะหายเองได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ในผู้ป่วยที่มีอาการเป็นนานประมาณ 10 วันหรือมีอาการแย่ลงหลังจากที่เดิมเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว จึงจะให้การวินิจฉัยว่าเป็นไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
 
        โรคไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อไวรัสสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ส่วนรายที่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยว่าเป็นโรคไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์ก็จะพิจารณารักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม
 
        สำหรับการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ แพทย์จะใช้ประวัติอาการและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ นั่นคือ อาการน้ำมูกข้น คัดจมูก ปวดตึงบริเวณใบหน้าและมีความสามารถในการรับกลิ่นลดลง แพทย์อาจจะพิจารณาส่องกล้องตรวจในโพรงจมูกในกรณีที่ประวัติอาการไม่ชัดเจน และอาจทำการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม คือ การตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะพิจารณาทำในบางกรณี เช่น ประวัติอาการเข้าได้กับโรคแต่ตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ สงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคไซนัสอักเสบ หรือทำเพื่อประเมินโครงสร้างไซนัสก่อนผ่าตัด
 
        สำหรับโรคไซนัสอักเสบ เพื่อไม่ให้อาการกำเริบและเป็นซ้ำ การดูแลร่างกายตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะฉะนั้นควรดูแลร่างกายให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกาย รักษาความสะอาด หลีกเลี่ยงฝุ่นควันและมลภาวะ เลือกรับประทานอาหารเพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน จำพวกผัก ผลไม้ และธัญพืช หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช