ออกอากาศ : วันที่ 9 กันยายน 2561  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคน้ำกัดเท้า
บทคัดย่อ:

        หลายท่านอยากทราบว่า เวลาเราเดินในพื้นที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน ๆ ทำไมจึงเกิดโรคน้ำกัดเท้าได้ โรคน้ำกัดเท้าเกิดจากอะไรและจะรักษาป้องกันการเกิดโรคนี้ได้อย่างไร ผศ.พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ ภาควิชาตจวิทยา จะมาตอบคำถามเหล่านี้

        โรคน้ำกัดเท้าเกิดจากการติดเชื้อราที่เท้า พบบ่อยในประเทศไทยที่มีอากาศร้อนชื้น โดย เฉพาะผู้ที่เท้าสัมผัสน้ำตลอดเวลาหรือผู้ที่มีภาวะเท้าผิดรูป เช่น นิ้วเท้าเกและมีการเกยทับกันของนิ้ว ทำให้ซอกนิ้วมีการอับชื้นบริเวณซอกนิ้วเท้าและก่อให้เกิดโรคน้ำกัดเท้า

        โรคน้ำกัดเท้าสามารถติดต่อจากคนอื่นที่มีโรคเชื้อราอยู่แล้ว หรือสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิด เช่น สุนัขหรือแมว การติดต่อสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรงหรือผ่านสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว รองเท้า รวมถึงการเดินในพื้นที่สาธารณะ ในห้องอาบน้ำสาธารณะ หรือสระน้ำสาธารณะ ก็สามารถทำให้เกิดการติดต่อและเกิดโรคน้ำกัดเท้าได้

        ผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้ามักมาด้วยอาการคันบริเวณที่ซอกนิ้วเท้า เท้าลอกเป็นขุย บางท่านมีผื่นหนาเกิดขึ้นที่เท้า หากไม่ได้รับการรักษาโรคเชื้อราที่เท้าอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ เช่น แพร่กระจายไปที่ขาหนีบผ่านการใส่กางเกงชั้นใน หากไม่ได้รับการรักษาโรคน้ำกัดเท้าอาจเกิดแผลเป็นทางเข้าของเชื้อแบคทีเรีย และเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังต่อไปได้ค่ะ นอกจากนั้นในส่วนของการวินิจฉัยโรคเชื้อราที่เท้า แพทย์ส่วนใหญ่จะทำการวินิจฉัยจากการดูลักษณะของผื่นร่วมกับการขูดผิวหนังไปส่งตรวจหาเชื้อราที่ห้องปฏิบัติการ

        การรักษาโรคน้ำกัดเท้าส่วนใหญ่สามารถใช้ยาทารักษาโรคเชื้อราได้ แต่ต้องทาเป็นระยะเวลา นานประมาณ 4 สัปดาห์ ในส่วนของยารับประทานต้านเชื้อราซึ่งมีผลข้างเคียงต่อตับจะพิจารณาเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อราที่เล็บร่วมด้วย หรือมีการติดเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณอื่นเป็นบริเวณกว้างร่วมด้วย

        การป้องกันโรคน้ำกัดเท้าที่สำคัญที่สุด คือ การรักษาสุขอนามัยของเท้า โดยการล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่และซับให้แห้งโดยเฉพาะที่บริเวณซอกนิ้วเท้า หากท่านสงสัยว่าเป็นโรคน้ำกัดเท้าสามารถมาพบแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยและการรักษา

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช