ออกอากาศ : วันที่ 3 กันยายน 2549  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: มะเร็งเต้านม
บทคัดย่อ:      มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปากมดลูกและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้หญิง  ที่จะต้องหมั่นสำรวจตรวจคลำเต้านมเป็นประจำมะเร็งเต้านมตรวจพบแต่แรก รีบรักษามีโอกาสหายขาดสูง รศ.นพ.ศุภกร โรจนนินทร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ อธิบายว่า มะเร็งเต้านม เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม  การกินอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยทอง หรือการกินยาคุมกำเนิดนานเกิน 10 ปีขึ้นไป ผู้หญิงอ้วน ผู้ไม่ได้ออกกำลังกาย  ผู้ไม่มีบุตร ผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม 

     ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาตัวใดที่จะป้องกันมะเร็งเต้านมได้ การรักษามีหลายวิธี ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละคน  จุดประสงค์การรักษาเพื่อกำจัดเนื้อร้ายให้ได้มากสุดเท่าที่จะมากได้  มะเร็งเต้านมในระยะแรกสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด การฉายรังสีและการให้ยา  ถ้ามะเร็งมีการลุกลามอาจต้องตัดเต้านมและต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด ความสำคัญอยู่ที่แพทย์ต้องพิจารณาทางเลือกการรักษาที่ดีที่สุดร่วมกันเช่น การใช้ยาเคมีบำบัด เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง หรือการรักษาด้วยวีธีฮอร์โมนบำบัด ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นต้น
     
     มะเร็งเต้านม เป็นโรคที่เริ่มเกิดขึ้นที่เต้านม แต่อาจมีการแพร่กระจายไปทั่วทั้งระบบของร่างกายแล้วตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัย  ความรุนแรงของโรคขึ้นกับระยะของโรคที่ตรวจพบในครั้งแรก  ดังนั้น การรักษาด้วยการผ่าตัดอาจไม่เพียงพอ อาจต้องให้เคมีบำบัด  หรือการใช้ฮอร์โมนช่วยในการรักษาสำหรับการผ่าตัด มี 2 ชนิด คือ 

     1.  ตัดเต้านมออกทั้งหมด คือ จะตัดเต้านมข้างที่เป็นมะเร็งออกทั้งหมด  รวมทั้งเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกไปด้วยเป็นการผ่าตัดมาตรฐานที่ทำกันอยู่เป็นร้อยปีมาแล้ว

     2. ตัดเต้านมออกบางส่วน  คือการตัดมะเร็งเต้านมออกให้หมดด้วยการผ่าตัด และเก็บเนื้อเต้านมส่วนใหญ่ไว้ แต่ต้องได้รับการฉายรังสีที่เต้านมส่วนที่เก็บไว้เสมอ  วิธีนี้สามารถจะเก็บรักษาเต้านมไว้ได้ แต่จะกระทำได้ในกรณีที่ ก้อนมะเร็งไม่ใหญ่มาก   ผ่าแล้วเต้านมที่เหลือต้องดูสวย ไม่บิดเบี้ยวจนเกินไป  หากเต้านมผิดรูปมาก ไม่สวย ไม่ควรทำวิธีนี้ส่วนเรื่องเคมีบำบัด การใช้ฮอร์โมนคงต้องดูระยะของโรค  ชนิดของเซลล์ ซึ่งการผ่าตัดทั้ง  2 ชนิด ก็ยังต้องรับการรักษาต่อเหมือนกัน

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช