ออกอากาศ : วันที่ 6 พฤษภาคม 2561  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: “โรคกล้ามเนื้อคอหดเกร็ง”
บทคัดย่อ:
        อาการปวดคอ ไหล่ติด สะบักจม อย่าคิดว่าเป็นแค่การเมื่อยล้าจากการทำงานนะคะ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณเป็นโรคกล้ามเนื้อคอหดเกร็ง ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ค่ะ ราย
ละเอียดเป็นอย่างไร ผศ.นพ.ปัญญา ลักษณะพฤกษา  ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด จะมาให้คำตอบกับเราค่ะ 
 
       
 
        โรคกล้ามเนื้อคอหดเกร็ง เป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างกล้ามเนื้อและการใช้งานครับ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีการใช้งานซ้ำ ๆ  ในท่ากางแขน เขียน หรือก้มคอจากการพิมพ์งานคอมพิวเตอร์ การใช้งานซ้ำ ๆ โดยปราศจากการยืด เหยียดกล้ามเนื้อจะทำให้กล้ามเนื้อมีการหดเกร็ง จนกระทั่งมีอาการปวดร้าวไปที่คอ แขน ไหล่ หลัง หรือบ่าครับ
        ผู้ป่วยอาจจะพบว่ามีกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ และหลังเกร็งตัวขึ้นเป็นก้อน และมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณใกล้เคียงคอ บ่า ไหล่ หรือหลัง อาการเหล่านี้จะมีอาการคล้ายโรคหมอนรองกระดูกกดเบียดเส้นประสาท เบื้องต้นแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาแก้ปวด ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเบื้องต้น โดยทั่วไปหากอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้พบแพทย์ ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหรือดูแลไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังจนกระ ทั่งมีผลต่อการดำรงชีวิตครับ
        แนวทางการรักษาโรคกล้ามเนื้อหดเกร็ง ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบครับ 
        1. เมื่อมีอาการปวด แนะนำให้รับประทานยาแก้ปวด ทำกายภาพบำบัด โดยใช้ความร้อน การกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อให้กล้ามเนื้อที่เกร็งมีการคลายตัว รวมถึงการฝังเข็ม หรือมีการฉีดยาบริเวณกล้ามเนื้อที่มีอาการหดเกร็งคลายตัวออก 
        2. แนะนำให้มีการทำกายภาพบำบัด โดยเน้นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและสร้างความแข็งแรง เพื่อให้กล้ามเนื้อมีความทนทานในการใช้งานมากขึ้น 
        3. แนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและตำแหน่งการใช้งาน เช่น การปรับเปลี่ยนตำแหน่งโต๊ะทำงาน คีย์บอร์ด เพื่อให้ตำแหน่งของคอ แขน ไหล่ หลัง บ่า อยู่ในตำแหน่งที่สมบูรณ์
        เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคกล้ามเนื้อคอหดเกร็ง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อส่วน คอ บ่า ไหล่ มีท่าบริหารง่าย ๆ มาฝากครับ 
        1. ประสานมือไว้และเหยียดไปด้านหน้าให้สุด 
        2. ยืดขึ้นด้านบน ค้างไว้จนกล้ามเนื้อยืดตึง 
        3. เอี้ยวไปทางด้านซ้ายและค้างไว้ 
        4. เอี้ยวไปทางด้านขวาและค้างไว้ 
        5. เอามือข้างนึงแตะบ่าอีกข้างนึง แล้วดันข้อศอก พร้อมหันศีรษะไปด้านบ่า 
        ท่าบริหารเหล่านี้ จะเป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ซึ่งทุกท่าจะทำค้างไว้ประมาณ 5 – 10 วินาทีครับ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช