ออกอากาศ : วันที่ 22 เมษายน 2561  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคฮิตคนทำงาน...เครียดลงกระเพาะ
บทคัดย่อ:
        เรามักจะได้ยินอยู่เสมอว่าคนที่มีอาการปวดท้องอยู่บ่อย ๆ สาเหตุน่าจะมาจากเครียดลงกระเพาะ เป็นไปได้อย่างไร ผศ.พญ.มณฑิรา มณีรัตนะพร ภาควิชาอายุรศาสตร์ มาพาไปรู้จักโรคนี้ครับ
 
 
        ปกติโรคกระเพาะจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีแผล และ กลุ่มที่ไม่มีแผล ส่วนใหญ่ผู้ที่ประสบกับภาวะเครียดลงกระเพาะจะเกิดกับโรคกระเพาะกลุ่มที่ไม่มีแผล ส่วนใหญ่มีอาการปวดจุกบริเวณลิ้นปี่เป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งมักจะเกิดหลังรับประทานอาหาร ซึ่งถ้าคนไข้มีภาวะเครียดก็อาจทำให้อาการกำเริบได้ ทำให้มีอาการบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นได้ค่ะ
        อาการของภาวะเครียดลงกระเพาะ ส่วนใหญ่จะมีอาการปวด จุก แน่น แสบบริเวณลิ้นปี่ มักจะเกิดหลังจากรับประทานอาหาร อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะเกิดอาการระหว่างมื้ออาหารได้เช่นเดียวกัน อาการมักไม่รุนแรง เป็น ๆ หาย ๆ มีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรงมากค่ะ ส่วนการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติหรือมีอาการแสบที่ยอดอกนั้น มักเป็นผลจากการที่มีโรคร่วม เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคกรดไหลย้อนตามลำดับค่ะ
        โดยเบื้องต้นแล้ว หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ คุณหมอจะให้คำแนะนำกับผู้ป่วยให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร 
        อันดับแรก คือ รับประทานอาหารให้ตรงเวลา หมายถึง คนไข้รับประทานอาหารเวลาไหนก็ให้รับประทานเวลานั้นทุกวัน 
        อันดับสอง คือ ชนิดของอาหาร จะต้องเลือกชนิดของอาหารค่ะ อาหารบางชนิดจะกระตุ้นให้เกิดอาการค่อนข้างบ่อย เช่น อาหารที่มีรสจัด จะทำให้เกิดอาการแสบหรือปวดท้องได้บ่อยขึ้น และอาหารมันก็มักจะทำให้เกิดอาการจุก แน่นท้อง และต้องหลีกเลี่ยงยาหรือสารบางอย่างที่ทำให้มีอาการมากขึ้น เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มแอสไพริน กลุ่มเอ็นเสด 
        นอกจากนั้น การดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น การออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะลดปัญหาอาการกำเริบค่ะ หากปฏิบัติเบื้องต้นแล้ว อาการยังไม่ทุเลา แนะนำให้พบคุณหมอเพื่อตรวจเพิ่มเติมตามเหมาะสม และใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการได้ค่ะ
        เนื่องจาก โดยทั่วไปแล้วคนไข้มักจะมีอาการเรื้อรัง พบว่าประมาณ 50% ของผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ 30% ของผู้ป่วยจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ในขณะที่ 20% ของผู้ป่วยจะมีอาการต่อเนื่องได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ รับประทานอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็วขึ้น มีถ่ายอุจจาระดำ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเรื้อรัง หากมีอาการที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม ปรึกษาคุณหมอ สืบค้นเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาดูว่าจะเกิดภาวะหรือโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนขึ้นมาหรือไม่ค่ะ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช