ออกอากาศ : วันที่ 17 ธันวาคม 2560  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ไขข้อข้องใจกล่องเสียงอักเสบ
บทคัดย่อ:
        หลายหลายคนสงสัยว่า ถ้ามีอาการเจ็บคอ เสียงแหบ บางเวลาพูดไม่มีเสียง ใช่อาการของโรคกล่องเสียงอักเสบหรือไม่ ผศ.พญ.ฉันทิชา โชติกวณิชย์ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา จะพาเราไปรู้จักกับโรคนี้ครับ
 

        โรคกล่องเสียงอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเกิดร่วมกับไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ หรืออาจเกิดจากการระคายเคืองจากการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การใช้เสียงมาก ทำให้เนื้อเยื่อกล่องเสียงที่รวมถึงสายเสียงเกิดการอักเสบเสียงหายและมีอาการบวมแดงส่งผลให้การทำงานของเนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสายเสียงทำงานไม่ได้เต็มที่ เจ็บ เสียงแหบ และรู้สึกเจ็บเวลากลืนค่ะ  
        อาการโดยทั่วไป ได้แก่ ระคายเคืองในคอ เจ็บคอ เสียงแหบ หรือพูดไม่มีเสียง อาจมีอาการไอหรือเสมหะร่วมด้วย กลืนลำบาก หายใจติดขัด ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
        1. กล่องเสียงอักเสบแบบเฉียบพลัน พบบ่อยกว่าแบบเรื้อรัง มักมีอาการเสียงแหบ เจ็บคอ รู้สึกกระตุ้นแห้งในลำคอ ไอแห้ง มักมีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์
        2. กล่องเสียงอักเสบแบบเรื้อรัง จะมีเสียงแหบเป็นระยะเวลานาน เค้นเสียงเวลาพูด รู้สึกเมื่อยที่คอ และเหนื่อยง่ายเวลาพูด หากตรวจดูกล่องเสียงจะพบว่า สายเสียงบวมหนาทั่วๆ ไป สีไม่แดง สายเสียงมีขนาดโตขึ้น เมื่อตรวจสายเสียง โดยเครื่องตรวจการสั่นของสายเสียงจะเห็นชัดเจนว่า เยื่อบุสายเสียงหนามาก สายเสียงสั่นผิดปกติ ไม่เป็นไปตามแบบแผน ส่วนใหญ่มักมีอาการนานเกิน 3 สัปดาห์ มักเป็น ๆ หาย ๆ
ในการวินิจฉัย แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงและซักประวัติผู้ป่วย หรือสงสัยมีสาเหตุอื่นก็อาจตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การใช้กล้องส่องตรวจกล่องเสียง หลังจากนั้น จะทำการรักษาตามสาเหตุที่พบ ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัสจะให้ยาบรรเทาตามอาการ ถ้าเกิดจากแบคทีเรียก็จะให้ยาปฏิชีวนะ ในรายที่เกิดการระคายเคืองก็แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสารระคายเคือง ถ้าเกิดจากโรคกรดไหลย้อนก็ให้ยาลดกรด และในบางรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อน อาจทำให้เกิดติ่งเนื้อหรือปุ่มเนื้อของสายเสียงต้องรักษาด้วยการผ่าตัดค่ะ
        สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกล่องเสียงอักเสบ ให้พักการใช้เสียงจนกว่าอาการจะทุเลา ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ งดน้ำเย็น และใช้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ลดไข้ แก้ไอ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง และหากมีเสมหะข้นเหลือง เขียว หรือมีเลือดปน กลืนลำบาก หายใจลำบาก มีไข้เกิน 1 สัปดาห์ และมีเสียงแหบนานเกิน 3 สัปดาห์ให้รีบพบแพทย์ค่ะ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช