ออกอากาศ : วันที่ 13 สิงหาคม 2549 เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 |
เรื่อง:
|
ลำไส้กลืนกัน |
บทคัดย่อ:
|
หากลูกน้อย มีอาการปวดเกร็งบริเวณท้อง ร้องไห้กระสับกระส่ายอีกทั้งอาเจียนร่วมด้วย ควรรีบนำเด็กปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของโรคลำไส้กลืนกัน รศ.นพ.รวิศ เรืองตระกูล ภาควิชาศัลยศาสตร์ อธิบายว่า โรคลำไส้กลืนกัน เป็นภาวะที่ลำไส้ส่วนหนึ่งเคลื่อนตัวเข้าไปในลำไส้ส่วนที่อยู่ปลายกว่า พบได้ในเด็กที่มีอายุในช่วง 4-12 เดือนสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด สำหรับอาการของโรคลำไส้กลืนกันจะมีลักษณะเฉียบพลันโดยเด็กจะเริ่มปวดเกร็ง ร้องไห้งอแง อาเจียน ซึ่งเป็นน้ำนมหรืออาหารที่รับประทานเข้าไปในระยะแรก จากนั้นอาการจะสงบลงชั่วขณะจนกระทั่งปวดท้องขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมกับอาเจียน ซึ่งระยะหลังนี้จะมีน้ำดีปนด้วยเพราะมีการอุดตันของลำไส้ และเมื่อลำไส้กลืนกันเป็นเวลานาน จะเริ่มมีการขาดเลือด ผู้ป่วยจึงมีการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด พร้อมกับมีอาการไข้ และเซื่องซึม ทั้งนี้ การตรวจร่างกายอาจคลำพบก้อน ซึ่งมีลักษณะคล้ายไส้กรอก ภายในช่องท้อง การวินิจฉัยโรคกระทำได้ 2 วิธี คือ การทำอัลตราซาวนด์ และการสวนลำไส้ด้วยสารทึบรังสี ส่วนการรักษาทำได้ด้วยการดันลำไส้ส่วนที่เคลื่อนตัวเข้าไป โดยใช้แรงดันผ่านทางทวารหนัก ซึ่งอาจใช้การสวนด้วยสารทึบรังสีหรือใช้ก๊าซเป็นตัวดัน ซึ่งถ้าสามารถดันลำไส้ที่กลืนกันได้ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารได้ภายใน 1-2 วัน และกลับบ้านได้ แต่ถ้าหากไม่ได้ผลและลำไส้มีการกลืนกันจนเกิดการเน่าตาย อาจรักษาด้วยวิธีผ่าตัดลำไส้กลืนกันเป็นโรคที่เฉียบพลันและเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงไม่ควรซื้อยามาทานเอง หรือรอดูอาการเป็นเวลานาน ควรรีบพบแพทย์เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเน่าตายของลำไส้ |
|
กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช
|