ออกอากาศ : วันที่ 10 กันยายน 2560  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ควันบุหรี่มือสอง...ภัยร้ายใกล้ตัว
บทคัดย่อ:

     คำว่า “ควันบุหรี่มือสอง” หมายถึงอะไร ต่างจากควันบุหรี่ธรรมดาอย่างไร ทำไมจึงถือเป็นภัยเงียบที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค น่ากลัวขนาดไหน ผศ.นพ.สนทรรศ บุษราทิจ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ จะมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เราฟังค่ะ

     ควันบุหรี่มือสอง คือ การที่คนที่ไม่ได้สูบบุหรี่จะได้รับควันบุหรี่เข้าไป ซึ่งจะทำให้เกิดโทษเหมือนกับคนที่สูบบุหรี่ เราจะพบได้ใน 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรก คือ เด็กที่อยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพ่อหรือแม่ เด็กอาจจะได้รับควันบุหรี่ขณะที่พ่อหรือแม่สูบบุหรี่อยู่ที่บ้านหรือขณะที่เดินทางอยู่ในรถ อีกกลุ่มหนึ่ง คือ คนที่ทำงานในที่ทำงานที่มีคนสูบบุหรี่อยู่ คนเหล่านี้ก็มีโอกาสรับควันบุหรี่เข้าไปนะครับ

     ในควันบุหรี่มีสารพิษจำนวนหลายพันชนิด บางตำราก็บอก 4,000 บางตำราก็บอก 7,000 ชนิด อย่างไรก็ตาม สารพิษเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นสารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในร่างกายของคนเรา สารพิษในควันบุหรี่มือสองจะต่างกับสารพิษจากควันบุหรี่ที่ผู้สูบสูบบุหรี่โดยตรงเพราะเวลาเราสูบบุหรี่โดยตรงควันบุหรี่จะผ่านไส้กรองทำให้กรองสารพิษออกไป แต่ในควันบุหรี่มือสองส่วนใหญ่จะเป็นควันบุหรี่ที่ออกมาทางปลายมวนที่ติดไฟจะไม่ผ่านสารตัวกรองอะไรทั้งนั้น เพราะฉะนั้นควันบุหรี่ในส่วนนี้จะมีสารพิษค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มือสองเข้าไปนาน ๆ ก็จะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

     อันตรายจากควันบุหรี่มือสอง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ประเภทแรก ได้แก่ ระยะเฉียบพลัน คือ การที่เราได้รับควันบุหรี่เข้าไป และอาจจะเกิดอาการแพ้ ระคายเคือง ทำให้ตาแดง ไอ จาม ถ้าในเด็กแรกเกิด จะเกิดภาวะหอบหืด หรือติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้นนะครับ ส่วนประเภทที่ 2 ได้แก่ ระยะยาว คือ คนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นเวลานาน ๆ ก็จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจ หรือโรคมะเร็งได้ คล้ายกับคนที่สูบบุหรี่

      ผลกระทบที่ตามมาจากควันบุหรี่มือสองล้วนแต่เป็นอันตราย การป้องกันหรือหลีกเลี่ยงเป็นวิธีที่ดีที่สุด วิธีง่ายๆ คือ เราบอกคนที่บ้านหรือคนที่สูบบุหรี่ใกล้ตัวเราให้เลิกสูบบุหรี่ และเราพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปในสถานที่ที่เรารู้ว่ามีควันบุหรี่ อันนี้ก็จะช่วยป้องกันเราจากอันตรายจากบุหรี่มือสองได้นะครับ 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช