ออกอากาศ : วันที่ 9 กรกฎาคม 2560  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: มารู้จักไขมันกันเถอะ
บทคัดย่อ:

         “ไขมัน” เมื่อพูดถึงคำนี้ เราจะคิดถึงสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่เชื่อหรือไม่ว่า หากเราเลือกรับประทานอาหารประเภทไขมันให้ถูกหลักแล้ว จะมีผลดีกับร่างกายเราอย่างไม่น่าเชื่อ มารู้จักไขมันกับ ผศ.นพ.พรพจน์ เปรมโยธิน ภาควิชาอายุรศาสตร์ กันค่ะ

         ไขมัน คือ สารอาหารชนิดหนึ่งซึ่งมีความจำเป็นต่อร่างกาย เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายล้วนแล้วแต่มีไขมันเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น นอกจากนี้ ไขมันยังเป็นองค์ประกอบที่ช่วยห่อหุ้มอวัยวะและกระดูก ช่วยให้ผิวหนังของเรามีความชุ่มชื้น ทั้งยังช่วยให้ร่างกายมีความอบอุ่น นอกจากนี้ ร่างกายยังไม่สามารถสร้างไขมันบางชนิดได้ และจำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเท่านั้น

ไขมันแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท คือ 

1. ไขมันที่รับประทานเข้าไปแล้วส่งผลดีแก่ร่างกาย ที่มักเรียกกันว่า “ไขมันดี” แบ่งย่อยออกได้เป็นไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว กับ ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน การเลือกรับประทานไขมันชนิดนี้ในปริมาณที่พอดี จะทำให้ระดับโคเลสเตอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้น และช่วยลดโคเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีลงได้ด้วย อีกทั้งลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อาหารที่มีไขมันชนิดนี้อยู่ในปริมาณสูง ได้แก่ ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืชต่าง ๆ น้ำมันข้าวโพด ปลาที่มีไขมันสูง น้ำมันจากเมล็ดดอกคำฝอย อะโวคาโด น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา และน้ำมันถั่วลิสง เป็นต้น 

2. ไขมันที่รับประทานเข้าไปแล้วส่งผลเสียแก่ร่างกาย ที่มักเรียกกันว่า “ไขมันเลว” แบ่งย่อยออกได้เป็นไขมันอิ่มตัว กับ ไขมันทรานส์ โดยไขมันอิ่มตัว เป็นไขมันที่มาจากสัตว์ เช่น เนย น้ำมันหมู เป็นต้น โดยยกเว้น ปลาและไข่ และอีกประเภท คือ ไขมันทรานส์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวที่ร้ายที่สุด โดยในอุตสาหกรรมบางอย่างได้มีการเปลี่ยนเอาไขมันไม่อิ่มตัวให้กลายเป็นไขมันทรานส์เพื่อให้มีคุณสมบัติเก็บได้นาน ไม่เหม็นหืน เช่น เนยเทียม เนยขาว เป็นต้น อาหารที่มีไขมันทรานส์มาก ได้แก่ ขนมอบ อาหารทอด คุกกี้ เฟรนช์ฟรายส์ โดนัท ซึ่งไขมันชนิดนี้จะไปลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดดีในเลือดและไปเพิ่มโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดีให้สูงขึ้น หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงของโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพราะฉะนั้นจึงควรเลี่ยงการรับประทานไขมันชนิดนี้ เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคที่ร้ายแรงต่าง ๆ เหล่านี้ 

          อย่างไรก็ตาม นอกจาก “ชนิด” หรือ “คุณภาพ” ของไขมันแล้ว “ปริมาณ” ของไขมันในอาหารก็มีความสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพ การรับประทานอาหารที่มี  “ปริมาณ” ไขมันมากเกินพอดี เช่น อาหารทอด อาหารผัด แม้จะเป็นไขมัน “ชนิด” ดีก็ตาม ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้ เมื่อเรารับประทานอาหารประเภทไขมันให้เหมาะสม ทั้งในเชิง “คุณภาพ” และ “ปริมาณ” จะช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพ และป้องกันโรคได้อย่างแน่นอน

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช