ออกอากาศ : วันที่ 2 กรกฎาคม 2560  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน
บทคัดย่อ:

        “โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน” ชื่อแปลก ๆ แบบนี้ หลายคนคงสงสัยว่าคือโรคอะไร ต่างจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอย่างไร วันนี้ อ.นพ.เอกพล อัจฉริยะประสิทธิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ จะมาอธิบายให้ฟังค่ะ 

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ มะเร็งของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่อยู่ในระบบน้ำเหลืองที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติและสามารถแพร่กระจายไปในอวัยวะต่าง ๆ ได้ครับ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน โดยวันนี้ผมจะพูดถึงโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินก่อนครับ 

        โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินพบได้ไม่บ่อยเท่าโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน มักพบได้ใน 2 กลุ่มอายุ คือกลุ่มอายุน้อย ระหว่าง 15 – 30 ปี และกลุ่มอายุมาก คือมากกว่า 55 ปี โรคมะเร็งชนิดนี้มีการดำเนินโรคช้า ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด และมีการพยากรณ์โรคดีกว่าชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อไวรัส Ebstein Barr และการสัมผัสยาฆ่าแมลง จะเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ครับ

        ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ด้วยก้อนต่อมน้ำเหลืองในบริเวณต่าง ๆ เช่น ที่คอ รักแร้ ขาหนีบ อาจจะเป็นก้อนภายในร่างกาย เช่น ก้อนในช่องอก ก้อนในช่องท้อง โดยไม่รู้สึกเจ็บที่ก้อน ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้ มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียสโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ มีเหงื่อออกชุ่มตัวในตอนกลางคืน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลียหรือรู้สึกคันตามตัวโดยที่ไม่ทราบสาเหตุครับ

        แนวทางการรักษาโรคนี้มีหลายวิธี ได้แก่ การให้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี และการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งจะใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับระยะโรค อายุผู้ป่วยและสภาพร่างกายของผู้ป่วยว่าพร้อมที่จะได้รับการรักษาหรือไม่ วิธีแรก คือการให้ยาเคมีบำบัด แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดชนิดฉีดหลาย ๆ ตัวร่วมกัน โดยให้ทุก 2 สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 3 – 6 เดือน ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค วิธีที่สอง คือการฉายรังสี มักใช้รักษาในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งในระยะต้น ซึ่งเป็นเฉพาะที่ โดยให้การรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด และวิธีสุดท้าย คือการปลูกถ่ายไขกระดูก มักใช้ในผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำหลังจากที่รักษาหายไปแล้ว หรือมะเร็งที่ดื้อต่อเคมีบำบัด โดยการปลูกถ่ายไขกระดูกนั้นจะใช้ไขกระดูกของผู้ป่วยเอง ซึ่งผู้ป่วยต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงพอที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ครับ แต่การรักษาจากแพทย์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอครับ ผู้ป่วยต้องปฎิบัติตัวและดูแลตัวเอง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สุก สะอาด และไม่ควรรับประทานอาหารประเภทหมักดอง ควรรักษาความสะอาดของร่างกายโดยเฉพาะบริเวณช่องปากเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ จุดเลือดออก จ้ำเลือดตามตัว หรือเลือดออกผิดปกติควรมาพบแพทย์ครับ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช