ออกอากาศ : วันที่ 11 มิถุนายน 2560  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคมะเร็งปากมดลูกกับการรักษา
บทคัดย่อ:

         เมื่อรู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับโรคมะเร็งปากมดลูก คำถามหลายคำถามก็เกิดขึ้น อาทิ การรักษามีกี่วิธี จะรักษาด้วยวิธีไหนดี แล้วจะดูแลตัวเองอย่างไร อ.นพ.สมภพ กุลจรัสนนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา จะมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ

         การวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูก แพทย์จะทำการแบ่งระยะของโรค ออกเป็นระยะที่ 1 – ระยะที่ 4 จากการตรวจร่างกาย การตรวจภายใน การตรวจทางทวารหนัก ส่องกล้องทางกระเพาะปัสสาวะ ส่องกล้องทางทวารหนัก รวมทั้งเอกซเรย์ปอดเพิ่มเติม เมื่อแบ่งระยะของโรคได้แล้วแพทย์จะทำการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไปครับ

         โรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 มีการรักษาที่เป็นมาตรฐานอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด และ การใช้รังสีรักษา วิธีแรก คือ การผ่าตัด แพทย์จะทำการผ่าตัดมดลูกรวมทั้งเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกรานทั้งสองข้าง ส่วนวิธีที่สอง คือ การใช้รังสีรักษา ซึ่งประกอบด้วยการฉายแสง การฝังแร่ และใช้เคมีบำบัด วิธีนี้ไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดแต่ได้ผลใกล้เคียงกับการรักษาโดยการผ่าตัดครับ 

         โรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2 , 3 และ 4 มีการรักษามาตรฐาน คือการใช้รังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากความแข็งแรง อายุ และโรคประจำตัวผู้ป่วยตามความเหมาะสมครับ

         ในการรักษาจะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับวิธีต่างๆ ที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา อย่างเช่น ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด จะมีการตกเลือด ติดเชื้อ มีการบาดเจ็บจากบริเวณอวัยวะรอบข้าง รวมทั้งไม่สามารถมีบุตรได้อีกและหมดประจำเดือนจนเข้าสู่วัยทองครับ สำหรับผลข้างเคียงจากการใช้รังสีรักษา ส่วนใหญ่มักจะเป็นบริเวณผิวหนังที่โดนฉายแสง รวมทั้งอวัยวะรอบข้างที่โดนรังสีด้วยครับ ส่วนผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด ก็จะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มือเท้าชา และ ผมร่วง  รวมทั้งเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดจะต่ำ มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยในแต่ละรายแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสูตรของเคมีบำบัดที่ใช้ ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้มีความแตกต่างกันแต่ละวิธีของการรักษา ยิ่งได้รับการรักษาหลายวิธีก็จะมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมากได้ครับ

         โรคมะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยควรทำร่างกายให้แข็งแรง ทำจิตใจให้เข้มแข็งไม่เครียด กำลังใจจากคนรอบข้างก็เป็นสิ่งสำคัญครับ เมื่อผู้ป่วยกำลังใจดีแล้วผลการรักษาก็มักจะดีตามไปด้วย ที่สำคัญ คือการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งการมาตรวจติดตามอาการและการรักษาอย่างต่อเนื่องครับ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช