ออกอากาศ : วันที่ 21 พฤษภาคม 2560  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: อันตรายภาวะขาดน้ำ
บทคัดย่อ:

     หลายคนสงสัยว่าอาการขาดน้ำหรือภาวะขาดน้ำเป็นอย่างไรทั้งๆที่เป็นเรื่องที่เราสามารถป้องกันได้ แล้วทำไมเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อ.นพ.ธเนศ ชัยสถาผล ภาควิชาอายุรศาสตร์ ช่วยไขข้อสงสัยค่ะ

      น้ำเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง เป็นส่วนประกอบหลักของเลือดซึ่งต้องไหลเวียนไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย เป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์ต่างๆ รักษาสมดุลเพื่อให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกตินอกจากนี้น้ำในร่างกายยังต้องสมดุลไปกับสภาวะเกลือแร่ด้วย

     ภาวะขาดน้ำ คือ ภาวะที่ร่างกายมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอจนส่งผลต่อการทำงานของระบบไหลเวียนและอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ไต สมอง ทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อ เป็นต้น อาการของภาวะขาดน้ำขึ้นกับความรุนแรง ช่วงต้นจะมีอาการปากแห้ง คอแห้ง กระหาย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มึนงง วิงเวียน หากขาดน้ำมากขึ้นจะเริ่มกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต เช่น ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเบาเร็ว ซึมลง หรือความดันโลหิตต่ำ ซึ่งความรุนแรงที่มากจะส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ไตวายเฉียบพลัน หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ด้วยเช่นกัน

สาเหตุของภาวะขาดน้ำที่พบบ่อยๆ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 

1. การสูญเสียน้ำไปทางปัสสาวะ ทางเดินอาหาร และเหงื่อ เช่น ท้องร่วง อาเจียนปริมาณมาก  ปัสสาวะมากผิดปกติจากน้ำตาลในเลือดสูงหรือยาบางชนิด ภาวะไข้สูงหรือเป็นลมแดดที่ทำให้สูญเสียน้ำทางผิวหนังมากกว่าปกติ

2. การได้รับน้ำเข้าร่างกายไม่เพียงพอ ดื่มน้ำน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ 

     การป้องกันภาวะขาดน้ำทำได้ง่ายๆ คือ การดื่มน้ำให้เพียงพอซึ่งคนทั่วไปต้องการน้ำประมาณ 1.5 - 2 ลิตรต่อวัน กล่าวคือ ประมาณ 8 แก้วน้ำมาตรฐาน ทั้งนี้ขึ้นกับสภาวะร่างกายและสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น ช่วงฤดูร้อนหรือผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง หรือออกกำลังกายที่มีการสูญเสียเหงื่อ จะต้องการน้ำและเกลือแร่มากกว่าปกติ ในกรณีที่ป่วยมีไข้ ท้องเสีย หรืออาเจียนรุนแรง ก็จำเป็นต้องได้รับน้ำและเกลือแร่เพิ่มขึ้นร่วมกับการรักษาที่ถูกต้องทันท่วงทีเช่นกัน การป้องกันอื่นๆ เช่น การหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน ซึ่งสามารถทำให้เกิดลมแดด (Heatstroke) ได้ การรักษาสุขอนามัยเพื่อลดการติดเชื้อหรือท้องร่วง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยบางโรคประจำตัวบางราย เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจล้มเหลว อาจจำเป็นต้องจำกัดปริมาณน้ำและเกลือแร่ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแลเป็นรายๆไป

     ภาวะขาดน้ำเกิดขึ้นได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อน และส่งผลกระทบต่อร่างกายรุนแรงได้ การดื่มน้ำให้เพียงพอและป้องกันเหตุของการสูญเสียน้ำเป็นเรื่องสำคัญ หากพบผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำรุนแรง ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีครับ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช