ออกอากาศ : วันที่ 23 กรกฎาคม 2549  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: เนื้องอกสมอง
บทคัดย่อ:          เนื้องอกสมองเป็นโรคหนึ่งที่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงโดยมักพบใน 2 ช่วงอายุ คือ อายุ 5-9 ปี และ 50-55 ปี อ.นพ.นันทศักดิ์  ทิศาวิภาต ภาควิชาศัลยศาสตร์ อธิบายว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกสมองจะมีอาการแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดศีรษะนำมาก่อนมักเป็นอาการปวดที่รุนแรง ปวดอยู่ตลอดเวลา แม้จะรับประทานยาแก้ปวดแล้วแต่ก็ไม่ช่วยให้อาการปวดศีรษะบรรเทาลง และมักจะมีการอาเจียนโดยไม่มีอาการคลื่นไส้ นอกจากนี้ เมื่อก้อนเนื้องอกไปกดเบียดหรือทำลายเนื้อสมอง ผู้ป่วยอาจมีอาการหน้าเบี้ยว แขนขาชา หรืออ่อนแรงและอาจชักได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแปลกไปจากเดิม ลักษณะคล้ายคนเสียสติ พูดไม่รู้เรื่อง ทั้งนี้เป็นเพราะสมองเป็นอวัยวะควบคุมการทำงานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การทำลายเนื้อสมองก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการต่าง ๆ กัน แล้วแต่ว่าเป็นเนื้องอกที่ส่วนใดของสมองวิธีรักษาเนื้องอกสมอง ก็คือการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดรักษามีความละเอียดอ่อนมาก การผ่าตัดมีความปลอดภัยและรวดเร็วมากขึ้น หลังจากผ่าตัดแล้ว ถ้ายังมีเนื้องอก หลงเหลืออยู่ในสมอง แพทย์จะทำการฉายรังสีรักษาตามหลังการผ่าตัด ในรายที่เนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ เช่น อยู่ใกล้สมองส่วนสำคัญ แพทย์จะส่งผู้ป่วยมารับการฉายรังสีรักษา  ปัจจุบันการฉายรังสีรักษาพัฒนาไปอย่างมาก มีการนำเทคนิคใหม่มาใช้ เรียกว่า การฉายรังสีรักษา 3 มิติ ซึ่งสามารถจัดลำรังสีจากหลาย ๆ ทิศทางให้ปริมาณรังสีรวมสูงสุดอยู่ที่ก้อนเนื้องอกเพียงตำแหน่งเดียว โดยที่สมองส่วนอื่น ๆ เฉลี่ยแล้วได้ปริมาณรังสีน้อยมาก และมีความแม่นยำในการรักษาสูงมากขึ้น  ในผู้ป่วยเด็กที่สมองกำลังเจริญเติบโต การฉายรังสีที่สมองจะต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก ซึ่งการรักษาร่วมกันระหว่างรังสีรักษาและยาเคมีบำบัดจะทำให้สามารถลดปริมาณรังสีลงได้

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช