ออกอากาศ : วันที่ 25 มิถุนายน 2549  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ไขมันในเลือดสูง
บทคัดย่อ:           ภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นอีกปัญหาสุขภาพหนึ่งที่พบบ่อยในประชากรไทย ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินความจำเป็น ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ อธิบายว่า ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง และสูงนานหลายปี จะส่งผลให้เกิดการหนาตัวของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ  จนทำให้หลอดเลือดอุดตัน ถ้าเกิดอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจจะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายและหัวใจวายฉับพลัน  ถ้าอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะเกิดอัมพฤกษ์และอัมพาตได้ ดังนั้นเมื่อมีภาวะไขมันในเลือดสูงจำเป็นต้องดูแลควบคุมโดยควบคุมอาหาร ถ้าน้ำหนักตัวมากเกินให้ลดน้ำหนัก และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ   งดสูบบุหรี่ ลดความเครียด และพยายามไม่อยู่เฉย คือ หากิจกรรมทำอย่างสม่ำเสมอ ข้อควรปฏิบัติด้านอาหารสำหรับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง คือ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะคือ ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงของทอดหรือผัดที่ใช้น้ำมันมากเปลี่ยนมาใช้วิธีการ ต้ม นึ่งแทน  น้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารแนะนำให้เลือกใช้น้ำมันพืชที่มีไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด  น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าวหรือเมล็ดดอกคำฝอย น้ำมันมะกอก
          นอกจากนี้ควรงดอาหารที่มีไขมันสูง หรือโคเลสเตอรอลสูง  เช่น  เนื้อสัตว์ที่ติดไขมันและหนัง ถ้าจะรับประทานให้เอาหนังและไขมันออกก่อนส่วนอาหารที่ควรจำกัดหรือรับประทานนาน ๆ ครั้ง ได้แก่ อาหารทะเล ปลาหมึก ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง  ส่วนไข่ (ไข่เป็ดและไข่ไก่) เป็นอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพสูง แต่ไข่แดงมีปริมาณโคเลสเตอรอลมากโดยทั่วไปแนะนำให้รับประทานไข่แดงได้ครึ่งถึงหนึ่งไข่แดงต่อวัน ขึ้นกับระดับโคเลสเตอรอลในเลือดและปริมาณเนื้อสัตว์ที่รับประทาน ให้รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำทุกมื้อ  นอกจากได้วิตามินและเกลือแร่ เพื่อลดการดูดซึมไขมันจากอาหารแล้วยังช่วยเพิ่มกากใยในอุจจาระ ทำให้ท้องไม่ผูก  ในกรณีที่ผู้ป่วยคุมอาหาร ออกกำลังกายหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วแต่ยังไม่ได้ผลแพทย์อาจให้รับประทานยาลดไขมัน โดยจะพิจารณาจากลักษณะของไขมันที่สูงว่าผู้ป่วยควรรับประทานยาประเภทใด

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช