ออกอากาศ : วันที่ 18 มิถุนายน 2549 เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 |
เรื่อง:
|
ความดันโลหิตสูง |
บทคัดย่อ:
|
โรคความดันโลหิตสูงเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบกันบ่อย เมื่อความดันโลหิตสูงมาก ๆ จะมีอันตรายต่อร่างกายอย่างไร และหากเป็นโรคนี้จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร รศ.นพ.พีระ บูรณกิจเจริญ ภาควิชาอายุรศาสตร์ อธิบายว่า ทุกครั้งที่หัวใจเราบีบตัว จะไล่เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดความดันขึ้นซึ่งเราเรียกว่า ความดันโลหิต ค่าความดันโลหิตจะประกอบด้วย 2 ตัวเลข คือ ตัวบนและตัวล่าง ผู้ที่อยู่ในภาวะความดันโลหิตสูงผิดปกติ คือ ผู้ที่มีความดันตัวบนตั้งแต่ 140 มม.ปรอทขึ้นไป และความดันตัวล่างตั้งแต่ 90 มม.ปรอทขึ้นไป ความดันโลหิตสูงเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะพันธุกรรม ถ้าบิดามารดามีความดันโลหิตสูง โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคนี้ก็จะมีมากกว่าคนทั่วไป อีกปัจจัยที่สำคัญคือสิ่งแวดล้อม เช่น การรับประทานอาหารรสเค็ม เพราะหากร่างกายได้รับเกลือมากเกินไปจะภาวะเครียด เป็นต้น คนที่เป็นความดันโลหิตสูงนั้นส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดงให้เห็น จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ละเลยและ ไม่เห็นความสำคัญของการรักษา ผู้ที่ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงอยู่นานโดยไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลให้หลอดเลือดตามอวัยวะต่าง ๆ เสื่อมลง ผลที่ตามมาคือ หลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดสมองอาจตีบหรือแตกทำให้เกิดอัมพาตได้ ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงคือ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เลือกบริโภคอาหารประเภทผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ผงชูรสและอาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้หัวใจเต้นเร็ว งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โรคความดันโลหิตสูงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาก็คือ ไม่ว่าจะรักษาด้วยยาหรือไม่ก็ตาม ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจระดับความดันเป็นระยะ ๆ และห้ามหยุดยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ |
|
กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช
|