ออกอากาศ : วันที่ 6 ธันวาคม 2558  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ไข้เลือดออก ภัยร้ายใกล้ตัว
บทคัดย่อ:

          โรคไข้เลือดออกเป็นภัยเงียบที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าอาการของโรคที่ซ่อนอยู่นั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ผศ.พญ.ณสิกาญจน์ อังคเศกวินัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับไข้เลือดออกว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อซึ่งมีสาเหตุมาจากไวรัสแดงกี่ โดยมียุงลายเป็นพาหะ ผู้ป่วยมักจะมีอาการผิดปกติหลังถูกยุงที่มีเชื้อกัดราว 5-7 วัน และปัจจุบันยังไม่มียารักษาการติดเชื้อเดงกี 

          ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมักมีอาการนำมาด้วยเรื่องไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก หน้าแดง บางครั้งผู้ป่วยเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคในกลุ่มหวัดมักจะมีอาการทางระบบหายใจ เช่น เจ็บคอ ไอ หรือมีน้ำมูกร่วมด้วย ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสแดงกี่ไม่จำเป็นต้องมีอาการรุนแรงเสมอ บางรายมีอาการไม่รุนแรง มีไข้ไม่นาน และหายได้เอง  โดยที่ไม่ได้มาพบแพทย์ บางรายมีอาการมาก ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณชายโครงขวา คลื่นไส้อาเจียนกินไม่ได้  หรือมีเลือดออกผิดปกติตามตำแหน่งต่างๆ  เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากจะมีความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเบาเร็ว ซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ปัสสาวะลดลง อาจถึงกับช็อคและเสียชีวิตได้ โดยในรายที่มีอาการรุนแรง มักเกิดภาวะซ็อกในช่วงที่ไข้ลดลง ดังนั้น หากพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลดลงและมีอาการผิดปกติดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์

อาการของโรคไข้เลือดออกแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

1. ระยะไข้สูงผู้ป่วยจะมีไข้สูงฉับพลันไข้จะสูงค้างอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาโดยที่กินยาลดไข้ก็ยังไม่บรรเทา ร่วมกับอาการหน้าแดง ปวดศรีษะ เบื่ออาหารมักมีไข้นานเฉลี่ย 5-7 วัน ช่วงนี้ให้รักษาตามอาการ กินยาลดไข้พาราเซตามอล
2. ระยะไข้ลดลง ซึ่งอาจมีอาการช็อกหรือมีเลือดออก ช่วงนี้ถือเป็นช่วงวิกฤตของโรค เป็นช่วงที่ผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลดลง รายที่ไม่รุนแรงไม่มีการรั่วของสารน้ำออกนอกหลอดเลือดก็มักไม่มีอาการใดๆ ผิดปกติ และเข้าสู่ระยะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว บางรายมีอาการจุกแน่น หรือปวดท้องคลื่นไส้อาเจียนมากในช่วงนี้ และในรายที่รุนแรงและมีการรั่วของสารน้ำออกนอกหลอดเลือดมากอาจมีอาการซึม ตัวเย็น มือเท้าเย็น กระสับกระส่ายเหงื่อแตก ชีพจรเต้น เบา เร็ว ความดันต่ำ และปัสสาวะออกน้อย ซึ่งเป็นภาวะช็อก หรือมีอาการเหนื่อยหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 1-2 วันอาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากผู้ป่วยมีเกร็ดเลือดต่ำมากในช่วงนี้บางรายพบเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล ประจำเดือนมามากหากอยู่ในช่วงมีประจำเดือน อาเจียนเป็นเลือดหรือสีกาแฟ ถ่ายเป็นเลือด ซึ่งหากอยู่ในภาวะนี้ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น หากสามารถประคับประคองอาการให้ผ่านพ้นอาจระยะนี้มาได้ก็เข้าสู่ระยะฟื้นตัวของโรคไข้เลือดออก
ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการช็อกหรือช็อกไม่รุนแรงและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการของผู้ป่วยจะฟื้นตัวสู่สภาพปกติได้เร็ว โดยผู้ป่วยจะเริ่มกินอาหารได้ มีหัวใจเต้นช้าลง ปัสสาวะออกได้ดี บางรายมีผื่นแดงตามตัว โดยอาจมีหรือไม่มีอาการคันร่วมด้วย
เนื่องจากยังไม่มียาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาโรคนี้ การรักษาหลักจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ในช่วงที่มีไข้ สามารถทานยาลดไข้ได้ในปริมาณที่เหมาะสม โดยใช้ยาพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามรับประทานยาในกลุ่มแอสไพริน และยาในกลุ่มไอบูโปรเฟน เนื่องจากเป็นยาที่กัดกระเพาะ และทำให้เลือดออกในกระเพาะหรือลำไส้ได้ ซึ่งเป็นอันตรายกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวก อาหารมันๆ ประเภททอด ผัด และอาหารเผ็ดอาจทำให้แสบท้องและเกิดเลือดออกในกระเพาะได้ง่าย 
 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช