ออกอากาศ : วันที่ 29 พฤศจิกายน 2557  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคลมพิษ โรคใกล้ตัวที่ไม่ธรรมดา
บทคัดย่อ:

         โรคลมพิษ โรคผิวหนัง ซึ่งนอกจากสร้างความรำคาญแล้วยังแฝงด้วยอันตรายที่ไม่ธรรมดา ผศ.พญ.ปภาพิต ตู้จินดา ภาควิชาตจวิทยา จะให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลมพิษ

โรคลมพิษ เป็นโรคที่มีผื่นผิวหนัง ที่มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีขนาดตั้งแต่ 0.5 หรืออาจถึง 10 ซม. เกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว แขน ขา มีอาการคัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการริมฝีปากบวม ตาบวม

โรคลมพิษ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ คือ โรคลมพิษชนิดเฉียบพลัน คือ อาการผื่นลมพิษที่เป็นไม่เกิน 6 สัปดาห์ โดยสาเหตุส่วนมาก มักเป็นปฏิกิริยาต่อการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด บางรายเกิดจากยา อาหาร แมลงกัดต่อย อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายก็หาสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้ ผู้ป่วยโรคลมพิษชนิดเฉียบพลันบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการแสดงที่อวัยวะอื่น เช่น ปวดท้อง แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หอบหืด หรืออาจเป็นลมจากความดันโลหิตต่ำ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอาการหอบหืดจนอันตรายถึงชีวิตได้ โดยปกติแล้วลมพิษชนิดเฉียบพลันมักจะหายภายใน 2 – 3 สัปดาห์ ประมาณ 10 – 20% ของผู้ป่วยโรคลมพิษชนิดเฉียบพลันผื่นจะขึ้นต่อเนื่องจนกลายเป็นลมพิษเรื้อรัง และอีกกลุ่ม คือ โรคลมพิษชนิดเรื้อรัง ผู้ป่วยมีอาการผื่นลมพิษเป็นๆ หายๆ อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ต่อเนื่องกันนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งมีทั้งชนิดที่ทราบสาเหตุ และชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน เกิดจากความแปรปรวนภายในร่างกาย โรคลมพิษเรื้อรังสามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์สูงสุดในกลุ่มประชากรวัยทำงาน อายุประมาณ 20 – 40 ปี อาจเป็นไปได้ว่ากลุ่มวัยทำงานมักมีความเครียดสะสมและละเลยต่อการดูแลสุขภาพอนามัยของตัวเอง จึงทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้มากขึ้น 

อย่างไรก็ตามโรคลมพิษเรื้อรังนั้นมีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งด้านบุคลิกภาพการทำงาน การเรียน การดำเนินชีวิตประจำวัน การนอนหลับและยังก่อให้เกิดความเครียดอีกด้วย โดยเฉพาะรายที่ไม่ทราบสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นที่ชัดเจน อาจมีภาวะความเครียดที่สูงขึ้นเพราะผู้ป่วยไม่สามารถทราบขึ้นได้ว่าจะมีอาการเกิดขึ้นเมื่อไร และไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากปัจจัยกระตุ้นได้ 

สำหรับผู้ป่วยผื่นลมพิษ สามารถปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการได้ ดังนี้ งดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด พกยาต้านฮีสตามีนติดตัวไว้เสมอเพื่อนำมาใช้ได้ทันทีหากมีอาการ พยายามทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด เมื่อเกิดอาการไม่แกะเกาผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังอักเสบจากการเกา รับประทานยาตามแพทย์สั่ง อาจใช้ยาทาเพื่อช่วยลดความรู้สึกคัน เช่น คาลาไมน์ทาบริเวณผื่นลมพิษ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช