ออกอากาศ : วันที่ 21 พฤษภาคม 2549  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง
บทคัดย่อ:        โรคข้อสันหลังอักเสบเรื้อรังหากไม่รีบทำการรักษา  อาจทำให้พิการถาวรได้  และจะมีวิธีการรักษาอย่างไร รศ.นพ.สุรินทร์  ธนพิพัฒนศิริ  ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด อธิบายว่า ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง  เป็นการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลังแบบเรื้อรัง  และค่อย ๆ รุนแรงขึ้นจนมีการเชื่อมต่อกันของข้อต่อกระดูกสันหลัง  ซึ่งมักพบอาการป่วยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง  โดยผู้ป่วยระยะเริ่มแรก  จะมีอาการปวดข้อโดยเฉพาะอาการปวดหลังหรือบั้นเอวเมื่ออายุประมาณ 20 ปี   และเริ่มปวดมากขึ้นเมื่ออายุมากกว่า  30  ปีขึ้นไป  โดยบริเวณที่พบอาการปวดมากที่สุด  ได้แก่  บริเวณบั้นเอว  แก้มก้น  ทรวงอก  หัวเข่า  ส้นเท้า  หัวไหล่และข้อมือ  ในระยะแรกจะมีอาการปวดเป็นครั้งคราว  แต่อาการเด่นชัดที่สุด คือ  อาการปวดหลังเวลานอน  โดยเฉพาะในช่วงเช้า  อาจมีอาการหลังแข็งและดีขึ้นหลังได้เคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกาย  หากอาการรุนแรงขึ้นผู้ป่วยอาจมีอาการไข้  อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร  น้ำหนักลด  ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไปพบแพทย์หลังมีอาการปวดไปแล้วประมาณ 6 เดือน  ถึง 3 ปี  ทั้งนี้

         ในทางการแพทย์ได้ตรวจพบว่าผู้ป่วยก้มงอบั้นเอวลงด้านหน้าได้น้อยกว่าปกติ  หรือใช้วิธีวัดรอบทรวงอกเพื่อดูการขยายตัวเมื่อหายใจเข้าเต็มที่  ในรายที่มีอาการรุนแรงและละเลยการรักษามานานหลายปี  จะมีลักษณะหลังแข็งทั้งท่อนและโก่ง  ตาไม่สามารถมองตรงไปข้างหน้า  บางรายสะโพกแข็งแบบอยู่ในท่านั่ง  ทำให้ยืนและเดินไม่ได้

         ในส่วนของการรักษา แพทย์จะช่วยบรรเทาอาการปวดอักเสบ  และป้องกันความพิการได้หลายทาง เช่น การให้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์  การใช้วิธีกายภาพบำบัด  เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถยืนและนั่งตรงได้  และวิธีสุดท้ายคือการใช้การผ่าตัดสำหรับระยะสุดท้ายของโรคที่มีการติดแข็งของข้อ  เช่น  การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก  หรือการดัดกระดูกเอวที่โก่ง โค้งให้ตรง  เป็นต้น 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช